แสงไทย เค้าภูไทย จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ล้วนโดนคลื่นโควิด-19 ระลอกที่ 2 กันถ้วนหน้า เหตุจากยังมีพวกติดเชื้อตกค้างหลังเปิดเมืองอยู่ ส่วนสหรัฐฯไม่หวั่น เชื่อจะมีถึง คลื่นลูกที่ 4 เพราะแรงกดดันจากประชาคมให้รีบเปิดเมือง สำหรับไทย เริ่มเปิดเมืองพัทยาหยั่งเชิง แม้บางพื้นที่สมควรยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และหยุดอยู่บ้านได้แล้วก็ตาม เพราะมีตัวอย่างการกลับมาของ “2nd Wave” จากการนำเข้าของคนจีนจากต่างประเทศและชาวต่างชาติ รวมถึงคนจีนที่ติดเชื้อแต่ไม่ปรากฏอาการ กลายเป็นพาหะแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว การที่อเมริกาเปิดเมืองหลายแห่งแล้ว เช่น หาดไมอามี เป็นต้น ทำให้เกิดความกังวลแบบหวาดเสียวว่า จะทำให้การระบาดรุนแรงขึ้นอีกระลอก เป็น “2nd Wave” ทั้งๆที่ 1 st Wave ยังโหมกระหน่ำไม่หยุดยั้ง ตายกันเป็นเบือ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับยังสนับสนุนซ้ำยุชาวอเมริกันให้เรียกร้องการเปิดเมือง ยอมเสี่ยงคนตายแลกกับการฟื้นคืนชีพของเศรษฐกิจอเมริกา กลายเป็นการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์คะแนนหยั่งเสียงยังเป็นรอง แต่การออกโรงหนุน Reopen เมืองคราวนี้ ส่งผลให้คะแนนของทรัมป์ตีตื้นขึ้นมาพรวดพราด ผู้ชำนาญด้านระบาดวิทยา จึงลงความเห็นว่า การรีบเปิดเมืองครั้งนี้ จะทำให้สหรัฐฯเสี่ยงต่อการเกิดคลื่นไวรัส SARS-CoV-2 ระลอกที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แน่นอน การกลับมาระบาดอีกครั้งของไวรัสโควิด-19 นั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มที่ 1 คนที่หายป่วยแล้ว กลับมาเป็นอีก กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยหน้าใหม่ที่เป็นการติดเชื้อใหม่ และกลุ่มที่ 3 ผู้ติดเชื้อแต่ไม่ปรากฏอาการที่เริ่มมามีอาการป่วยในระยะนี้ ของเราวันนี้เปิดเมืองพัทยาแล้ว และกำลังพิจารณาจะเลือกเปิดเป็นโซนๆตามสถานการณ์โรค ทั้งนี้เพราะแรงกดดันจากประชาชนที่ไม่มีรายได้ ทั้งจากเจ้าของกิจการต้องปิดกิจการ ทั้งลูกจ้างตกงาน ทั้งผู้บริโภคหยุดอยู่กับบ้าน ไม่กล้าออกมาซื้อหา ออกมาใช้บริการ ทำให้พากันขาดรายได้ เป็นลูกโซ่ แต่ก็กลัวว่า จะเกิด 2nd Wave เหมือนกับชาติเหล่านั้น จนในที่สุดก็ต้องขยายเวลาใช้มาตรการกันต่อไปอีก 1 เดือน รัฐบาลจึงต้องหามาตรการเสริมเพื่อรองรับคนตกงานและขาดรายได้ คิดไปคิดมาก็หาตัวช่วยคือภาคเอกชน จม.เปิดผนึกถึง 20 อภิมหาเศรษฐี ถือเป็นตัวเลือกอีกทาง เพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ดังเช่น อเมริกาที่จะเปิดเมืองจากแรงกดดันของภาคเอกชน ที่เอาชีวิตคนอเมริกันเป็นเดิมพัน เอกชนอเมริกันมีเงินมากกว่ารัฐบาลหลายเท่า ขนาดทรัมป์ฟาดงวงฟาดงาไม่พอใจ WHO ถึงขนาดไม่ยอมจ่ายเงินค่าบำรุง 41 ล้านดอลลาร์ แต่มหาเศรษฐีไมโครซอฟท์ บิล เกตส์ กลับออกหน้าประกาศจ่ายแทน และยังเตรียมเยียวยาในรูปต่างๆ การที่เอกชนอเมริกันรวยกว่ารัฐบาลเช่นนี้ ทำให้มีอำนาจต่อรอง กดดันให้รัฐบาลทำตามความต้องการได้ในหลายด้าน ส่วนเมืองไทย การส่ง “จดหมายเปิดผนึก” ถึง 20 คนรวยให้มาร่วมระดมความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ไม่รู้ว่าทำท่าไหน นำเสนอกันผิดที่ผิดทาง กลายเป็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการ “ไถ” เงินเศรษฐี เปิดช่องว่างให้ฝ่ายคิดต่าง โจมตีว่า เป็นการขอบริจาคเงินจากเศรษฐีมาสมทบเงินรัฐบาลจ่ายเยียวยาประชาชน สื่อมวลชนต่างประเทศถึงกับเรียกตามวาทกรรมชิงชังว่า “Beggar Government” รัฐบาลขอทาน การนำเสนอหรือพรีเซนต์โครงการนั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนี้ ไม่ระมัดระวัง ไม่ให้ความสำคัญส่วนปลีกย่อย โดยเฉพาะอารมณ์สาธารณะ ก็อาจถูกเข้าใจผิด เลี้ยวเข้ารกเข้าพง เหมือนกับรมว.สาธารณสุขโดนหมอและพยาบาลอัดยับทุกช่วงที่มีโอกาส หรือว่านี่เป็นเพราะกรรมซัดวิบัติเป็น ที่ทำให้ยามนี้ รัฐบาลทำอะไรๆก็พลาดพลั้งไปเสียหมด ?