เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
โควิด-19 กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า ภูมิต้านทานของแต่ละประเทศในโลกเป็นอย่างไร มีระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคมที่สามารถรับมือกับโรคระบาดนี้มากน้อยเพียงใด ใครเป็นใครก็เห็นกันตอนนี้
สังคมไทยอาจจะพอใจในตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ต่ำ แต่ผลกระทบของมาตรการต่างๆ ต่อเศรษฐกิจสังคมนั้นใหญ่หลวงนัก อันนี้ต่างหากที่น่ากลัว จนคุณดนุพล แก้วกาญจน์ เตือนให้ระวังโศกนาฎกรรมแบบ “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” คนหิวไม่กลัวโควิด แต่กลัวอดตายมากกว่า
โควิด-19 ได้เปิดเผยสถานะความเป็นจริง ความทุกข์ยากของประชากรส่วนใหญ่ ที่รัฐไม่สามารถเยียวยาและแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม อันสืบเนื่องมาจากปัญหาระบบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของไทยเอง ที่สร้างความเหลื่อมล้ำและความยากจน ซึ่งควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
วิกฤติโควิด-19 หยิบยื่นโอกาสสำคัญให้ไทยในการปฏิรูปตนเอง โอกาสที่ไม่ควรพลาด เพราะวิกฤติจะมาอีกไม่ทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน สังคมจะมีปัญหาหนักกว่านี้อีกและยากจะเยียวยา ทางเลือกจึงไม่ใช่เพียงการ “ปะผุ” แต่รื้อทั้งระบบโครงสร้าง
ไทยมีทางเลือกที่ดีอยู่แล้ว ขอแต่ให้มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) เท่านั้น ทางเลือกที่ไม่ต้องไปพิสูจน์อะไรอีก เพียงแต่ต้องลงรายละเอียดและทำให้เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ เป็นวิญญาณของแผนพัฒนาฯ คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราคุ้นเคยจนมองข้าม
จึงขอเสนอเรื่องนี้อีก โดยขอกลับลำดับ “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” มาเป็น “มีภูมิคุ้มกัน พอประมาณ มีเหตุมีผล” จากการพัฒนา “คน-ความรู้-ระบบ” มาเป็น “ระบบ-คน-ความรู้”
เราต้องการระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง จึงขอยกคำกล่าวของ โรเบิร์ต มันเดล ศาสตราจารย์ชาวแคนาดาที่มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มาพูดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550 มีเนื้อหาสำคัญดังนี้
“เศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และยังไม่เข้มแข็งพอ เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายรวมของประเทศ ประกอบด้วยการบริโภค ภาคเอกชน การลงทุนของธุรกิจ การใช้จ่ายภาครัฐบาล การนำเข้าและการส่งออกแล้วสามารถนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งของภาคครัวเรือนที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของระบบเศรษฐกิจ”
“หากการบริโภคภาคครัวเรือน คือ บริโภคอย่างพออยู่พอกิน อย่างมีเหตุมีผลตามอัตภาพของแต่ละครัวเรือน จะทำให้ครัวเรือนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจครอบครัว คือสร้างการออมภาคครัวเรือนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเงินออมภายในประเทศมีพอเพียงต่อการลงทุนก็จะทำให้ภาคธุรกิจลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้การไหลของเงินทุนจากต่างประเทศที่มีความเร็วพอที่จะทำร้ายเศรษฐกิจในประเทศมีการชะลอลง”
“การดำเนินภาคธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะปรับเป้าหมายของการทำธุรกิจที่ไม่มุ่งแต่การเร่งสร้างกำไรสูงสุดเป็นสำคัญโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดวิกฤติตามมา เป็นการมุ่งเน้นการสร้างผลกำไรที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืนในระยะยาวโดยคำนึงถึง ความมั่นคงของบุคคล ชุมชน และสังคม ดำเนินธุรกิจ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
“การพัฒนาประเทศด้วยนโยบายมหภาคบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายการคลังในฐานะที่เป็นต้นเหตุของการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศเป็นจำนวนมากจึงถูกควบคุมให้อยู่ในความพอดี”
“ด้วยเหตุที่ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงอาจจะชะลอการบริโภคและการนำเข้า เนื่องจากประชาชนมีพื้นฐานหยั่งลึกในหลักศาสนาและวัฒนธรรมของเอเชีย ก็จะลดการกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย การขาดดุลการค้าจึงมีแนวโน้มลดลงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพามาตรการกีดกันทางการค้า การเคลื่อนย้ายปัจจัยทุนระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญน้อยลง”
ระบบเศรษฐกิจบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังต้องการขยายความ เชื่อมระบบสังคมและการเมือง ที่สัมพันธ์กันหมด มีคนไทยเก่งๆ มากมายที่คิดได้และพัฒนาได้ อยู่ที่การจัดการและการประสานงานเท่านั้น
“พอประมาณ” คือ การพัฒนาคนให้มีคุณธรรม มีวินัยชีวิต เดินทางสายกลาง ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ เพราะจากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการต่างประเทศพบว่ามูลค่าขององค์กรมากกว่าร้อยละ 85 มาจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ภายในองค์กร คือ “ทุนทางปัญญา” ที่มาจากบุคลากรที่มีคุณภาพนั่นเองที่ผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จมากที่สุด ประเทศไทยมี “ทุนทางปัญญา” มากพอถ้าใช้เป็น
“มีเหตุมีผล” คือ การสร้างความรู้ด้วยระบบการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้เกิดนวัตกรรม ให้มีการวิจัยทุกจังหวัด ทุกชุมชน ทุกประเด็น เพื่อบูรณาการให้เป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน โดยไม่เพียงแต่นักวิชาการนักวิจัย แต่ให้ชุมชนเป็นนักวิจัยเองด้วย ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าทำได้ดี
การวิจัยที่ไม่ใช่เพียงเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข แต่รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อต่อยอดระบบคุณค่าดั้งเดิมไม่ว่าด้านกฎหมาย ความสัมพันธ์ จารีตประเพณีวิถีชุมชน ที่ถูกละเลยและมองข้ามความสำคัญมานาน
ระบบเศรษฐกิจสังคมที่ “พอเพียง” พร้อมพลเมืองที่มีคุณภาพ บนฐานข้อมูลความรู้ จะเป็นระบบที่มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง ซึ่งไทยมีศักยภาพเพียงพอ ขอให้มีการเมืองที่ “พอเพียง” การเมืองที่เข้าใจและเชื่อในเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นที่จะมีเจตจำนงมุ่งมั่นนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง