โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดจากการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการโยกย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพแรงงานสูงกว่าทำให้รายได้ประชากรสูงขึ้น แต่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้กำลังจะถึงทางตัน
ชนชั้นนำจึงคิดยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0 แล้วเดินหน้าไปทางนั้น ปัญหาคือ มันมีอุปสรรคอย่างไร ? สังคมไทยควรจะรับรู้ และปรับตัวเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น
ย้อนกลับไปดูคำเตือนของผู้รู้ในอดีต เช่น ดร.ไตรรัตน์ ประสารวรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เราจะได้แง่คิดเตือนสติมาก (โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจําวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558)
“การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจําเป็นต้องอาศัย ระบบสถาบันภาครัฐที่เข้มแข็ง (Strong institutions) ที่จะช่วยกําหนดกฎกติกาต่างๆ ร่วมด้วย เพื่อเอื้อให้การปรับตัวและจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างถูกที่ ถูกทางอาทิ กระบวนการทางกฎหมาย การบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างขอบเขตและแรงจูงใจที่ถูกต้องเหมาะสมสําหรับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระบบสถาบันภาครัฐของไทย ยังไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว และกลับบิดเบือนให้เกิดการใช้ทรัพยากร ผิดที่ ผิดทางด้วยในบางครั้ง ซึ่งเกิดจากแรงต้านหลัก ๆ 3 ด้าน ได้แก่
แรงต้านที่หนึ่ง คอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับศักยภาพประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้โครงการหลาย ๆ โครงการของภาครัฐล่าช้า หรือหยุดลงกลางคัน เป็นภาระความเสียหายต่อประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรกําหนดบทบาทและกติกาให้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงการมีผู้รับผิดชอบ (Accountability) มีเป้าที่ชัดเจนและวัดได้จริง ลดการใช้ดุลยพินิจ และที่สําคัญที่สุดคือ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูล ตัวอย่างที่ดีที่ภาครัฐ กําลังเริ่มนํามาใช้คือ สัญญาคุณธรรม (Integrity pact) ซึ่งเป็นกลไกป้องกันคอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอนของโครงการ และเปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนรวมในการตรวจสอบการดําเนินงานของโครงการ เพื่อสร้างความโปร่งใสและปิดช่องโหว่ที่จะทําให้เกิดการทุจริต โดยกลไกดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องอาศัยทุกฝ่ายในการร่วมมือ
แรงต้านที่สอง ข้อจํากัดของระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยบทเรียนที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นตามลําดับในระบบเศรษฐกิจไทย หากการให้บริการพื้นฐานที่สําคัญของรัฐวิสาหกิจขาดคุณภาพ ประสิทธิภาพต่ำ ต้นทุนสูง ย่อมจะเป็นตัวถ่วงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมไปด้วย ดังนั้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้สัมฤทธิ์ผล วางโครงสร้าง กลไก และกติกาที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างให้รัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง ให้ทําในสิ่งที่ควรทํา ทําอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และทําอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล จึงเป็นสิ่งจําเป็น
แรงต้านที่สาม การบิดเบือนกลไกตลาดที่ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรผิดที่ ผิดทาง ซึ่งอาจเกิดจากการที่ภาครัฐอุดหนุนราคาในลักษณะที่ไม่เหมาะสม หรือกําหนดกฎเกณฑ์ที่จํากัดการแข่งขัน เช่น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกิจการของรัฐและของเอกชน หรือการจํากัดการมีส่วนร่วมจากต่างประเทศในบางกิจการ ทั้งนี้ การแข่งขันเป็นกลไกสําคัญให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยภาครัฐในการเพิ่มบทบาทกํากับดูแลนโยบายที่ส่งเสริมผลิตภาพมากขึ้น และหากจําเป็นต้องแทรกแซงกลไกตลาด ก็ควรมีกลไกบริหารจัดการที่รัดกุมและโปร่งใส เลี่ยงการอุดหนุนราคาในลักษณะที่บิดเบือนตลาดสูง มีภาระการคลังสูงและใช้งบต่อหัวสูงด้วยจากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น การที่ภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกของเราขยายตัวช้าลงทำให้ไม่สามารถดูดซับแรงงานจากภาคส่วนอื่นๆ ดังเช่นในอดีต”
คสช. ต้องระมัดระวังเรื่อง “แรงต้าน” สามประการในการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นให้ดี