ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ข่าวการถูกหลอกลวงด้วยเทคนิคของแชร์ลูกโซ่ผุดขึ้นมาในช่วงนี้สารพัดโกง สูญเสียเงินทองกันไปหลายพันล้าน เพราะความหลงเชื่อและความโลภอยากจะได้ผลกำไรที่มากกว่าดอกเบี้ยธนาคารหรือการลงทุนอื่นๆหลายเท่าตัว นั่นคือภัยคุกคามของเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ในทางลบ
ในแวดวงนี้ผู้หลงเชื่อส่วนมากจะเป็นผู้มีรายได้ค่อนข้างดี มีเงินส่วนเกินเก็บไว้ในธนาคาร ได้ดอกเบี้ยเล็กน้อย เมื่อเห็นรายได้ร้อยละ 8-10% ต่างจึงเข้าทุ่มโดยไม่ได้วิเคราะห์หรือตรวจสอบความมั่นคงของอาชีพนี้ บางกรณีการลงทุนยังไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของโครงการดังกล่าวด้วยซ้ำไป
โชคดีที่ยังไม่ลึกลงไปถึงระดับรากหญ้าที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว มิฉะนั้นจะต้องไปกู้เขามาลงทุนกับพวกใจร้ายหลอกลวงกันซึ่งๆหน้า สคบ.จะมีมาตรการอะไรที่จะประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกับการโฆษณาทางสื่อออนไลน์ที่เกินความเป็นจริงที่มีอยู่ดาษดื่นในโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน
ในช่วงนี้ลูกค้าของการไฟฟ้าทั้งนครหลวงและภูมิภาคต่างวิพากษ์วิจารณ์กันถึงค่าไฟที่ปรับค่าเอฟทีสูงขึ้นสวนทางกับค่าน้ำมันแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริการรายเดือนอีก 38.22 บาท เป็นค่าอะไรกันอีก เพราะอัตราค่าไฟฟ้าควรต้องรวมต้นทุนไว้หมดแล้ว เคยได้ยินคำตอบว่าเป็นค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์และค่าส่งเอกสาร ยิ่งทำให้งงมากขึ้น
เพราะค่ารักษามิเตอร์คงไม่มีใครเลิกใช้ไฟฟ้า เงินประกันหลายพัน หลายหมื่นบาทควรต้องเป็นค่ารักษามิเตอร์ไว้ด้วย มิเตอร์มี 50 ล้านเครื่อง การไฟฟ้าเอาเงินไปใช้ทำอะไรนอกจากเป็นรายได้ แล้วยังมีดอกผลขึ้นมาอีก แต่มาคิดกับผู้ใช้ไฟฟ้าอีก ยุติธรรมไหมกับค่าใช้จ่าย 38.22 บาทต่อเดือน ลองเอา 50 ล้านเครื่องคูณเข้าไป รายได้เกือบ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ปีละมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่พนักงานของการไฟฟ้าใช้ไฟฟ้าฟรี ซึ่งมากินเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
เรื่องนี้ดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่คนใช้ไฟฟ้าน้อยๆมาเสียค่าบริการอีกเกือบ 40 บาท เอาไปให้การไฟฟ้าเป็นรายได้ เอาเปรียบมากไปหรือไม่ อย่างนี้น่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนเขาทำโรงไฟฟ้าแข่งขัน จะได้เลิกใช้กลไกตลาดให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกบ้าง มิฉะนั้นการไฟฟ้าจะคิดค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสปฏิเสธ
ปีนี้ดูตัวเลขการพยากรณ์เศรษฐกิจจะเติบโตเกือบ 4% แต่ประชาชนมีเงินเหลือจ่ายเพื่อเก็บเกือบไม่มี แว่วว่าปีหน้ารัฐบาลเข้มงวดกับการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานรัฐมีอัตราเฉลี่ยลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เอาเงินไปใช้ในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ชาวบ้านเขาคิดเอาว่ารัฐบาลมีรายได้ไม่เข้าเป้าหมาย จึงปรับลดงบประมาณลงไป
เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ต้องให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือโดยเฉลี่ยทุกคนควรมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 30,000 บาท จึงจะทำให้ประเทศนี้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพื่อส่งผลไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอีก 20 ปี รัฐพึงทบทวนการให้สวัสดิการแก่ประชาชนให้มากกว่าเดิม แบบรัฐสวัสดิการ คงต้องฝากไว้ให้กรรมการชุดปฏิรูปประเทศได้พิจารณา