เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
โควิด-9 เหมือนกับสึนามิ หรือ ร้ายกว่า กำลังทำลายล้างโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าธรรมชาติอาจกำลังสร้างความสมดุลให้โลก เพราะประชากรมากเกินไป สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อากาศเป็นพิษ อาหารเป็นพิษ ชีวิตเป็นพิษ จึงสร้าง “พิษ” ใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง
ความจริง เพียงไม่กี่เดือน สิ่งแวดล้อมในน้ำ บนบก ในอากาศ ในจีน และ หลายประเทศดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ มองในแง่ดี โควิด-19 อาจเป็น “โชคดีที่มากับโชคร้าย” (blessing in disguise) แต่คนจำนวนมากคงรับไม่ได้ว่า นี่เป็นโชคดีที่ปลอมตัวมา เพราะคนเจ็บป่วยล้มตายมากมาย และเศรษฐกิจพังพินาศขนาดนี้ ทำใจยาก
ในสภาวการณ์วิกฤติอย่างวันนี้ที่การระบาดหนักไปทั่วโลก สร้างผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า มีเวลาอยู่บ้านนานขึ้น เราน่าจะหยุดคิดว่า ถึงเวลา “คืนสู่ธรรม-คืนสู่ธรรมชาติ-คืนสู่สามัญ-คืนสู่รากเหง้า” ได้หรือยัง
ได้เวลากลับไปทบทวนหลักในการดำรงชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบเป็นมรดกให้เรา เพราะชีวิตที่ไม่มีหลักเหมือนบ้านไม่มีเสาเข็ม ไม่ต้องถึงไต้ฝุ่น ลมพัดมาแรงๆ ก็ล้มแล้ว ลองไคร่ครวญดู
1.พอประมาณ คือ ความพอดีไม่สุดโต่งทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งแบบประมาทไม่สนใจใยดี ไม่ยี่หระ อีกด้านหนึ่งก็ตื่นตระหนกจนลนลาน หาทางเอาตัวรอดคนเดียว ไปซื้อของก็กักตุน เครียดหนัก กลัวไปหมด
ความพอประมาณ คือ การมีสติ มีมัชฌิมาปฏิปทา ที่พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ด้วยเหตุด้วยผลละเอียดถี่ถ้วนจนเกิดปัญญา ทางสายกลางเป็นความถูกต้องดีงาม การมีคุณธรรม ความมีเมตตาต่อผู้อื่น ไม่กล่าวโทษ ไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อจนสร้างตราบาป
2.มีเหตุมีผล มีข้อมูล ความรู้ ติดตามสถานการณ์ ทำตามแนวปฏิบัติกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ผู้รู้ผู้เกี่ยวข้องแนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ หรือเพื่อจะได้รักษาทัน ไม่แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น รู้จักแยกแยะข่าวสารข้อมูล ไม่เชื่อข่าวปล่อยข่าวปลอม และแพร่ข่าวที่ดีมีประโยชน์
การไม่มีความรู้จริงเกี่ยวกับไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ ทำให้เกิดความประมาท “ความประมาท คือ ความตาย” อย่างในหลายประเทศในยุโรปที่ไม่ได้รับมืออย่างจริงจังตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการระบาด เพราะคิดว่า คงไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกปี และน่าจะ “เอาอยู่” หรืออาจจะหายไปเองเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน
กว่าจะเข้าใจเรื่องไวรัสนี้อย่างถูกต้องก็สายไปมากแล้ว เกิดการระบาดหนักแบบ “ทวีคูณ” ไปทั่ว จนติดตามผู้ติดเชื้อทุกคนไม่ได้ว่าไปไหน พบใคร จนต้องเลิกตาม ทำให้โรคนี้ระบาดหนักอย่างรวดเร็ว
3.มีภูมิคุ้มกัน สองด้าน ด้านหนึ่ง คือแต่ละคนดูแลตนเอง ดูแลครอบครัวให้ป้องกันตนเองให้ดี ปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้อง ดูแลอาหารการกินที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้พอ ไม่เครียดจนเกินไป ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์วิกฤติ การดำเนินชีวิต การทำงาน
หลายคนตกงาน กลับบ้านในชนบท หาทางช่วยตนเอง ถ้ายังพอมีดินก็ยังพอมีที่ให้ปลูกผัก ผลิตอาหารจำเป็นพื้นฐาน หรืองานอื่นๆ ที่พอทำได้ จะได้มีรายได้พอจุนเจือครอบครัวในยามวิกฤติ
อีกด้านหนึ่ง เป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม สร้างระบบการจัดการด้านการป้องกันและดูแลสุขภาพจากโรคนี้ ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเ ผนึกพลังเพื่อสร้างระบบการจัดการที่เข้มแข็งให้ได้ ไม่ว่าด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจและสังคม ลตความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เวลามาตบตีกัน
ฝันถึงภูมิคุ้มกันทางสังคม คิดถึงสึนามิเมื่อปี 2547 ขณะที่บ้านเรือนริมทะเลถูกทำลาย ป่ากงกางกลับไม่ได้รับ ผลกระทบ พายุไต้ฝุ่นแรงขนาดไหนก็ไม่เคยทำให้ป่ากงกางพังราบเสียหายได้ เพราะลักษณะของป่าที่สานกันเป็นเครือข่ายตั้งแต่รากถึงลำต้น ยึดกันเองพร้อมยึดดินและน้ำ เป็นความแข็งแกร่งที่ต้านพายุใดๆ ได้
สิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุดในขณะนี้อาจยังไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วย แต่ปัญหาปากท้อง ปัญหารายได้ที่ขาดหายไปเพราะตกงาน ไม่มีงานทำ ค้าขายไม่ได้ ทำอย่างไรรัฐจึงจะช่วยเหลือในทุกรูปแบบที่ทำได้ เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน เยียวความเสียหายที่เกิดขึ้น
สถานการณ์โรคระบาดโลกครั้งนี้จะพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติบ้านเมือง การช่วยเหลือเยียวยาคนที่ตกงาน ขาดรายได้ ธุรกิจต่างๆ จะพิสูจน์ความสามัคคีของคนในชาติว่า ยามหน้าสิ่วหน้าขวานผนึกพลังร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาหรือว่าแตกสามัคคี
ที่สำคัญ จะพิสูจน์ว่าคนไทยมีสำนึกสาธารณะ มีความเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนมากน้อยเพียงใด มีความเป็นประชาคม (sense of community) หรือมีแต่คนเห็นแก่ตัว “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ที่ไม่ได้ต่างอะไรกับ “ไก่ในเข่งที่รอให้เขาเอาไปเชือด แต่ยังจิกตีกัน แทนที่จะช่วยกันหาทางออกจากเข่ง”
บทเรียนของจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ในการเอาชนะการระบาดของซาร์สเมื่อสิบกว่าปีก่อน และ โควิด-19 วันนี้บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ความสามัคคี มีวินัย ความร่วมมือของประชาชน ที่ประเทศเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เป็น “หน้าที่” เป็น “ความรับผิดชอบ” ของประชาชนแต่ละคนต่อสังคม หรือที่เราเรียกว่า “จิตสำนึก” นั่นเอง