เสือตัวที่ 6 การขยายตัวของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกผู้คนชายแดนใต้ เพื่อให้ยังคงทรงพลังในการต่อสู้กับรัฐได้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เกิดความเห็นต่างจากรัฐมากขึ้นๆ ทั้งยังต้องการสร้างแนวร่วมมวลชนคนรุ่นใหม่ให้เห็นคล้อยตามแนวคิดการต่อสู้ของขบวนการ นำไปสู่การสนับสนุนการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐของขบวนการร้ายแห่งนี้ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงควรตระหนักรู้ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะการหล่อหลอมกลับ ให้คนรุ่นใหม่ นิยมการคิดเชิงบวกเพื่อการคิดอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าการถูกชักนำให้คิดลบ และเสพติดความรุนแรงอย่างในปัจจุบัน สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษที่เปรียบเสมือนหัวใจของฝ่ายต่อต้านรัฐในการส่งต่อความคิดต่างให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายในลักษณะนี้ ด้วยบริบททั่วไปในพื้นที่ ล้วนมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งทางกายภาพและวิธีคิดกับรัฐอย่างสิ้นเชิง แต่รัฐก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กระบวนการในการนำความคิดเชิงบวก เข้าไปสู่มโนสำนึกของเด็กรุ่นใหม่ในสถานศึกษาให้จงได้ ด้วยการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ โดยรัฐ ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้บริหาร ครูสอนศาสนา และนักเรียนในสถานศึกษาให้มีความเข้าใจ เปิดใจกว้างในการรับฟังแนวคิดใหม่ๆ ในการดำเนินการของรัฐและชักชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างทัศนคติความเป็นมิตร และทัศนคติในการคิดเชิงบวกต่อประชาชนไทยโดยทั่วไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้เยาวชนทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐ และปฏิเสธการใช้ความรุนแรง รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีมิให้ถูกชักจูงและตกเป็นเครื่องมือของขบวนการร้ายแห่งนี้ สิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ การดำเนินการตามกระบวนการสร้างความคิดเชิงบวกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แนวทางที่มีผลงานทางวิชาการรองรับ เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า การดำเนินการทั้งหลายมีโอกาสสูงในการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ และกระบวนการหล่อหลอมความคิดเชิงบวกของรัฐนั้น มีผลการวิจัยฉบับหนึ่งที่ได้ศึกษาโดยใช้การก่อรูปจากปรากฏการณ์จริง ตามแนวทางของทฤษฎีฐานราก จากปรากฏการณ์นิยม โดยดำเนินการศึกษาวิจัยจากปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างองค์ความรู้จากฐานราก อันเป็นการสร้างองค์ความรู้จากความคิดเห็นของฐานรากของสถานศึกษาเอง โดยข้อค้นพบ ที่จะนำเสนอเพียงส่วนหนึ่งที่ต่อเนื่องในตอนที่ 2 นี้ พบว่า รัฐควรแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และดำเนินการที่ต่อเนื่องในตอนที่ 2 ดังนี้ 1) จัดระบบการศึกษาที่สามารถตรวจสอบได้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัดในพื้นที่ จะต้องเร่งการจัดระบบการบริหารจัดการของตนเองให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นสากลมากขึ้น และต้องมีกลยุทธ์ในการจัดระบบการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถตรวจสอบกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง ทั้งการเรียนการสอนสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นในบรรดาครูอาจารย์สอนศาสนาในสถานศึกษาของรัฐให้มากขึ้น เพื่อพยายามส่งเสริมให้บรรดาบุตรหลานของตนเป็นมุสลิมที่ดีตามหลักคำสอนทางศาสนาที่มีแนวคิดเชิงบวก รวมทั้งการให้การบริการอย่างหลากหลายจากสถานศึกษาของรัฐ ที่มีความหลากหลาย โดยมุ่งไปที่การให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่มีฐานะยากจน ให้มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างทั่วถึง อันเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งทางศาสนาอิสลามที่ผู้มีต้องช่วยเหลือพี่น้องที่ขาดแคลน ในหลากหลายประการ เช่น การที่สถานศึกษามีรถรับ-ส่งนักเรียนอย่างเพียงพอ การสนับสนุนอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนยากจน และการมีที่พักประจำให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสถานศึกษา 2) จัดระบบให้ผู้นำชุมชนของรัฐร่วมรับผิดชอบสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีกลยุทธ์ ออกมาตรการในการจัดระบบให้ผู้นำชุมชนของรัฐ โดยเฉพาะกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้านที่มีสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาตั้งอยู่ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อร่วมกันให้ความคิดเห็น แสดงทัศนะ และเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และร่วมตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินการในทุกมิติของสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้นำชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในสถานศึกษาในพื้นที่มากขึ้น เป็นสถานศึกษาของชุมชนโดยชุมชน เพื่อคนในชุมชนอย่างแท้จริง เปิดกว้างให้สถานศึกษาพร้อมรับการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานได้ตลอดเวลา 3) สร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษาของรัฐ ด้วยปัจจุบัน สถานศึกษาของรัฐที่จัดการเรียนการสอนทั้งสายสามัญและสายศาสนาในพื้นที่ กำลังถูกสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ทำการตลาด แย่งเด็กและเยาวชนไปเรียนในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนามากขึ้น ด้วยระบบการอุดหนุนรายหัวของภาครัฐ โดยเฉพาะในสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากการมีพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ได้ส่งผลให้สถานศึกษาของรัฐเกือบทุกแห่งอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ด้วยมีจำนวนนักเรียนในแต่ละสถานศึกษาของรัฐ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนค่านิยมและแนวคิดของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีว่า กำลังนิยมชมชอบสถานศึกษาในแบบใดและกำลังคิดและอาจจะมีแนวโน้มพฤติกรรมไปในทางที่เป็นผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงของชาติในที่สุด ดังนั้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาของรัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ จึงเป็นคำตอบสำคัญในการแสวงหาแนวทางให้สถานศึกษาของรัฐ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นตัวจักรสำคัญในการหล่อหลอมกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น อย่างมีพลังจากเด็กและเยาวชน รวมทั้งครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านั้น ให้สถานศึกษาของรัฐมีความเข้มแข็ง เป็นแหล่งผลิตมวลชนให้กับภาครัฐ อันจะทำให้การนำสันติสุขมาสู่พื้นที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ตามแนวทางพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ผู้ก่อความไม่สงบแนวคิดสุดโต่ง จำเป็นต้องยุติการใช้อาวุธ และกลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีในที่สุด ซึ่งหากรัฐ สามารถนำข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น ไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญให้หน่วยงานระดับปฏิบัติ นำไปใช้อย่างเป็นกระบวนการแล้ว จะมีความมั่นใจได้ว่า จะเพิ่มโอกาสให้หน่วยงานของรัฐ ในการนำวิธีคิดใหม่ๆ เข้าไปเปิดให้คนรุ่นใหม่ นำไปใช้แสวงหาทางออกของปัญหาด้วยแนวคิดเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ สู่แนวทางสันติวิธี ด้วยการสร้างแนวคิดเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว