[email protected] ข่าวแจ้งว่า สกอ. จะใช้ ม.44 เกี่ยวกับธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ขาดมาตรฐานและคุณภาพการจัดการศึกษา สำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย 12 แห่ง โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิไปตรวจสอบ วิเคราะห์ให้ทราบข้อเท็จจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า ม.44 มีผลต่อการใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแทนสภามหาวิทยาลัยได้เกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในและมาตรฐานกับคุณภาพของหลักสูตรที่เป็นผลกระทบกับนักศึกษาโดยตรง หากพบความจริงเช่นนั้น กรรมการสภามหาวิทยาลัยและตัวมหาวิทยาลัยเองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ตรงนี้จึงเป็นสาระสำคัญที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องทบทวนอำนาจหน้าที่ของตนเองทั้งหมด การเอาจริงเอาจังกับคุณภาพการศึกษา ควรได้ประเมินกันอย่างจริงจังมานานแล้ว หากประเมินสุกเอาเผากินคงเป็นปัญหาสะสมของการสร้างทุนมนุษย์ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ทำให้บ้านเมืองเราพัฒนาได้ช้ากว่าเพื่อนบ้าน ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการฟื้นฟูชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิด value creation ให้กับประเทศ การศึกษาในระดับปริญญาเอก พึงต้องเน้นการวิจัยให้เกิดนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ชุมชน สถานประกอบการ และประเทศชาติมากกว่าจะวิจัยหรือระบบ IS ที่ได้แต่วิจัยข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น เพราะประเทศต้องการนักวิจัยเพื่อวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การที่ สกอ. จะเข้าไปวิเคราะห์และตรวจสอบคุณภาพตามข่าวนั้น เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง หากการศึกษามุ่งแต่ผลกำไรหรือมุ่งสร้างรายได้เชิงธุรกิจโดยขาดมาตรฐานและคุณภาพ ก็สมควรที่จะถูกปิดหลักสูตร หรือลงโทษแก่สถาบันนั้นๆอย่างเฉียบขาด มิให้มีสโลแกนว่า “จ่ายครบจบแน่” กันเสียที เท่าที่ทราบมีบางสถาบันจ้างนักวิขาการภายนอกมาจัดหลักสูตรแล้วแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน น่าจะไม่ถูกต้องตามมาตรฐานหลักสูตรที่จะต้องมีอาจารย์ประจำจริงๆ มิใช่ทำสัญญาจ้างอำพรางไว้เพื่อเปิดหลักสูตร แต่การจัดการศึกษาขาดคุณภาพตามมาตรฐานของ สกอ. หรือ สภาวิชาชีพที่กำหนดไว้ ควรจะได้ผลผลิตในรูปแบบที่จะช่วยพัฒนาประเทศ มิใช่เพื่อปรับวุฒิของตัวเองซึ่งประเทศชาติไม่ได้อะไร ต้องยอมรับว่าสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน มีมากกว่า 100 แห่ง เกือบทั้งหมดสามารถพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ชาติและสังคมได้ดี มีเพียงบางแห่งที่ยังขาดศักยภาพของอาจารย์ รวมถึงขาดคุณภาพของการจัดการศึกษา หากเอาจริงเอาจัง คงช่วยให้ทุกมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการพัฒนากำลังคนได้มากยิ่งขึ้น ในยุคของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประชาชนต้องปรับตัวเองในการใช้จ่ายให้คุ้มค่าเพื่อให้บุตรหลานได้โอกาสเข้าถึงการศึกษา แม้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจจะไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยมากนักก็ตาม แต่การส่งบุตรหลานเข้าสู่สถาบันที่ขาดคุณภาพเท่ากับการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสูญเสียโอกาสการเข้าถึงทางการศึกษา นั่นคือความเหลื่อมล้ำทางสังคมการศึกษา ซึ่งควรจะหมดไปได้แล้ว