รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โดยทั่วไปแล้วรัฐบาล (Government) หมายถึง คณะบุคคลที่ใช้อำนาจอธิปไตยกำหนดนโยบายบริหารประเทศและนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐบาล ซึ่งหมายรวมไปถึงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ นั้น คือ องค์การบริหารประเทศ ตลอดจนเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของรัฐ ดังนั้นทุกๆ รัฐจะต้องมีรัฐบาลทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
เมื่อพิจารณาจากความหมายในข้างต้นแล้ว ทำให้ต้องยอมรับว่า บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าอย่างมีเสถียรภาพได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการบริหารงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ ปี 2563 ไม่ถึง 2 เดือนเต็ม คนไทยและประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองหลายเหตุการณ์ ขณะที่รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ดูแลบริหารบ้านเมืองต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ “รัฐบาล” สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,222 คน ในประเด็น ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ “รัฐบาล” สรุปผลได้ ดังนี้
เหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆทางการเมือง ณ วันนี้ ที่ประชาชนสนใจ คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 39.04 คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี รองลงมา ได้แก่ การบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 29.59 การป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม เช่น การระบาดของไวรัส เหตุกราดยิงที่โคราช ร้อยละ 25.47 คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 20.36 และความไม่โปร่งใส ทุจริตคอรัปชั่น เช่น เงินทอนบ้านจัดสรรทหาร บุกรุกป่า ร้อยละ 15.68
เหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆทางการเมือง ณ วันนี้ที่ประชาชนเบื่อหน่าย คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 41.77 คือ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมือง เสียบบัตรแทนกัน รองลงมา ได้แก่ ทำงานล่าช้า ไม่มีผลงาน ร้อยละ 35.58 ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล การทะเลาะเบาะแว้ง ร้อยละ 21.73 ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้อง เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ร้อยละ 18.25 และปล่อยปัญหาให้เกิดขึ้นซ้ำซาก ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ ร้อยละ 14.36
ผลงานหรือเรื่องราวที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล ในความคิดเห็นของประชาชน คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 33.59 คือ ต้องแก้ปัญหาให้รวดเร็ว สร้างผลงาน เช่น ฝุ่น PM 2.5 ไวรัส COVID19 รองลงมา ได้แก่ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุน ร้อยละ 28.17 บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล เป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 24.55ดูแลประชาชน แก้ปัญหาความยากจน ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ร้อยละ 22.48 และแสดงความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 18.60
ผลงานหรือเรื่องราวที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาล ในความคิดเห็นของประชาชน คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 43.18 คือ แก้ปัญหาล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรม รองลงมา ได้แก่ การรับมือกับเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 34.05 การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด จริงจัง เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นกลาง ร้อยละ 20.19 ไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ร้อยละ 13.64 และการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น ร้อยละ 12.78
คงไม่อาจปฏิเสธว่าการสำรวจในประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนความคิดเห็นของคนในสังคมมีต่อรัฐบาลไทย ทั้งเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆทางการเมือง ณ วันนี้ ที่ประชาชนสนใจ เหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆทางการเมือง ณ วันนี้ ที่ประชาชนสนใจ ผลงานหรือเรื่องราวที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล และผลงานหรือเรื่องราวที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งพิจารณาจาก “คำตอบ” แล้ว ทำให้พอจะสรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองไม่น้อย
เพราะหากไม่สนใจก็คงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นแน่...!!
ความสนใจและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของคนในสังคม ณ วันนี้ ที่จากเดิมมีกลุ่มนักการเมือง นักวิชาการ เพียงไม่กี่กลุ่มที่มีบทบาททางการเมือง แต่ทุกวันนี้กลับมีผู้คนหลากหลายที่เข้ามาเป็น “คอการบ้านการเมืองเต็มขั้น” ปฏิกิริยาของคนสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากจะเป็นภาพสะท้อนของการให้ความสนใจ ความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วยังเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาด้าน “สติปัญญา” ของประชาชนที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ตามคำกล่าวที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” อย่างแท้จริง
พูดง่ายง่าย ก็คือ ณ วันนี้ ประชาชน สนใจการบ้านการเมืองมากขึ้น จึงติดตามข่าวสาร มีความรู้เรื่องการเมือง รับรู้ว่าการเมืองมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ หรือแม้แต่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเข้าใจ ซึ่งเมื่อประชาชนมีความสนใจ...การสร้างความร่วมมือทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า หรือฝ่าฟันวิกฤติปัญหาต่างๆ ไปได้นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย...
จริงไหมครับ!!??