เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ม.44 ที่เกี่ยวกับ “รถกระบะ” ถ้าใช้เมื่อ 40-50 ปีก่อนคงผ่านได้ไม่มีใครต่อต้าน คงมีการ “ด่าว่า” ในใจ วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พวก ในชุมชน แต่ก็คงจำกัดเพราะการสื่อสารไม่ได้ “ออนไลน์” ทันใจด้วยความเร็วเท่าแสงอย่างวันนี้ การลุกฮือของภาคประชาสังคมในยุครสช.เมื่อ 25 ปีก่อน มีการขนานนามว่า “ม็อบมือถือ” เพราะเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมครั้งแรกที่ผู้คนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือที่เริ่มแพร่หลาย แม้ไม่มากมายเท่าวันนี้ แต่ทำให้ข่าวสารกระจายไปทั่วอย่างรวดเร็ว เรียกคนออกไปชุมนุมจนนำไปสู่จุดจบของรสช. เช่นเดียวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาที่สังคมไทยค่อยๆ กลายเป็นสังคมออนไลน์ และประชาธิปไตยไทยก็เคลื่อนย้ายเข้าสื่อโลกออนไลน์ ที่เชื่อมผู้คนแบบ “สายตรง” “การสื่อสาร คือ การพัฒนา” “การพัฒนา คือ ประชาธิปไตย” วันนี้สังคมไทยอาจไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีผู้แทน ไม่มีพรรคการเมือง แต่สังคมไทยมี “พรรคประชาชน” เป็นประชาธิปไตย “ทางตรง” ด้วยมือถือ แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมแบบที่รัฐบาลหรือรัฐาธิปัตย์ไม่ฟังไม่ได้ (ถ้าอยากอยู่ยาว) คล้ายกับนครรัฐเอเธนส์เมื่อ 2,400 ปีก่อน ที่มี “สภาประชาชน” ที่ผู้ชายทุกคนเป็นสมาชิกสภา เดินเข้าออกเพื่อแสดงความคิดเห็นและลงมติในข้อกฎหมายต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเลือกผู้แทน “ข้าราชการ” สมัยนั้นก็ไม่มี มีแต่ “จิตอาสา” ที่เข้ามาทำงานด้วยการจับสลากเพื่อรับใช้สังคม ดูให้ดี วันนี้มี “รัฐมนตรี” อธิบดี ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการต่างๆ อยู่ในโลกออนไลน์แล้ว โดยเฉพาะกระทรวง “ยุติธรรม” ดูจะมี “ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ” มากหน่อย ถ้าไม่เป็นตัวจริงก็เป็น “เงา” ซึ่งบางครั้งเงาก็สำคัญกว่าตัวจริงเสียด้วย บทเรียนวันนี้สำหรับกรณี “กระบะ” ที่ออกมาผิด “กาละเทศะ” คือ การทำอะไรโดยไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่มีการเตรียมประชาชน ไม่มีการฟังความคิดเห็นของผู้ที่จะได้รับผลกระทบหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย คิดง่ายๆ ว่า มีอำนาจก็ทำได้ คิดง่ายก็พลาดง่าย ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยออนไลน์จึงแสดงพลังออกมาให้เห็น ขานรับจากสื่อ (โบราณ) กระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะทีวีดีจิตอลที่แข่งกันหนีตายด้วยการขาย “ข่าวออนไลน์” คือ กระแสในโซเชียลมีเดีย ระดมคนเข้าไปวิจารณ์กฎหมายนี้อย่างดุเดือด กฎหมาย “รถกระบะ” ไม่เข้าใจสังคมที่มีมิติต่างๆ ทางวัฒนธรรม ที่คนหัวสี่เหลี่ยมคิดไม่ได้ตามไม่ทัน คิดว่าอยู่สูงจึง “สั่งการ” แบบมองข้ามหัวคน “ข้างล่าง” จริงอยู่ กฎหมายที่ออกมาล้วนเป็นความหวังดีต่อบ้านเมือง เพื่อคนส่วนใหญ่ แต่หลายครั้งเป็นความปรารถนาดีที่ประสงค์ร้าย แทนที่จะช่วยกลับเป็นปัญหาเป็นอุปสรรค แทนที่จะลดความเหลื่อมกลับไปกระหน่ำซ้ำเติม แทนที่จะคืนความสุขกลับเพิ่มความทุกข์ อย่างกรณี “กระบะ” เหตุผลรุนแรงคือ เป็นการไปซ้ำเติมคนจนที่แม้แต่เงินจะซื้อข้าวกินยังแทบไม่มี ไม่มีปัญญาซื้อรถเก๋งขี่ ไม่มีเงินค่าเครื่องบิน ค่ารถทัวร์ ขอนั่งท้ายรถกระบะญาติพี่น้องกลับบ้าน คนในชนบทที่ต้องเดินทางจากหมู่บ้านไปในเมือง ไปทำงาน ไปธุระต่างๆ ไปโรงพยาบาล ไม่มีรถประจำทาง มีแต่รถกระบะ มีคลิปหนึ่งคนดูเป็นแสนบอกว่า “พวกคุณที่ออกฎหมายเป็นคนมีเงิน ซื้อรถได้เป็นร้อยคัน ชาวบ้านร้อยคนซื้อรถกระบะได้คันเดียว พวกคุณเข้าใจคนจนไหม” โลกออนไลน์สื่อว่ารัฐบาลโฆษณาเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ แต่ตอกย้ำซ้ำเติมให้เห็นความแตกต่าง สร้างความเจ็บปวด สื่อสารด้วยบทเพลงอย่าง “หัวอกท้ายกระบะ” และอีกหลายเพลงที่ส่งตรงถึงท่านผู้นำ ทั้งสะท้อนความน้อยใจ การประชดประชัน อารมณ์ขัน อันเป็นลักษณะของอารยะขัดขืน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ม.44” มีอาการชักเข้าชักออก เรื่องให้รปภ.เรียนจบม.3 ก็เสียมวยไปแล้วครั้งหนึ่ง ต้องถอดคำสั่งกฎหมาย เพราะ “ทำไม่ได้” เกิดกรณีแบบนี้เพราะไม่สนใจว่า สังคมมีความพร้อมกับกฎหมายข้อนี้ได้หรือไม่ บังคับใช้ได้จริงหรือไม่ ประเทศพัฒนาแล้ว ก่อนออกกฎหมาย เขาจะฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเป็นอะไรที่สำคัญและซับซ้อน การเตรียมการก็นานกว่า ทำกันหลากหลายวีธี เพื่อว่ากฏหมายออกมาจะยังประโยชน์ “สุข” ให้ประชาชนคนส่วนใหญ่จริงๆ หลายกรณีจึงมีการลงประชามติ (referendum) วันนี้ อำนาจ “อยู่ในมือ” ของประชาชน แต่ละคน “ถืออำนาจ” ตลอดเวลาและสามารถติดต่อสื่อสารกับทุกคนได้ทุกเมื่อ มือถือวันนี้มีอำนาจมากกว่าปืน