เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แปลว่าเวลาเรียนไม่ได้รู้ มัวแต่ท่องหนังสือ หรือจดจากกระดาน ต้องไปทำอะไรอย่างอื่นถึงจะรู้ ซึ่งครูส่วนใหญ่ก็คิดไม่ออกว่าจะให้ไปทำอะไร เลยให้ทำการบ้าน นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะสะท้อนให้เห็นวิธีคิดรวมไปถึงวิธีปฏิบัติและวิธีให้คุณค่า ที่มาจากฐานการมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “กระบวนทัศน์” (paradigm) ไม่ปรับไม่เปลี่ยนทั้งกระบวน ปฏิรูปการศึกษากี่สิบปีก็ไม่มีทางเกิดได้ วิจัยกันมาเกือบ 1,000 เรื่องในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา สรุปได้ร้อยแปดอย่าง สารพันปัญหา แต่ที่อ่านจากการสรุปงานวิจัยเหล่านั้นจากงานวิจัยของ สกว. ก็แทบจะไม่มีใครแตะเรื่องปัญหากระบวนทัศน์การศึกษา อาจไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อสิ่งที่ท่านพุทธทาสสอนว่า “ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย” ทำอะไรให้เริ่มจากหลักคิดที่ถูก เพราะมรรคมีองค์ 8 ก็เริ่มจากสัมมาทิฐิ ก่อนจะไปเรื่องอื่นๆ เรื่องอาชีพ เรื่องการปฏิบัติต่างๆ พอประกาศผลการสอบโอเน็ตปีนี้ที่เด็กสอบตกทั้งประเทศก็พากันวิพากษ์วิจารณ์และหาแพะอีกตามเคย ปัญหาครู คุณภาพและปริมาณ ปัญหางบประมาณ ปัญหาการบริหารการศึกษา ปัญหาการกระจายอำนาจ ปัญหาหลักสูตร ฯลฯ และเพื่อให้ทันสมัยกับคสช. กระทรวงศึกษาธิการสรุปว่า เป็นปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” เพราะจังหวัดที่ยากจนคะแนนต่ำ จังหวัดร่ำรวยคะแนนจะสูง ก่อนนี้มีข้อสรุปว่า การศึกษาเป็นปัญหาเพราะครูเงินเดือนน้อย เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ไม่มีกำลังใจทำงาน วันนี้ครูเงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยและอาชีพต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังสอบโอเน็ตคะแนนเฉลี่ยตกกันทั้งประเทศ เหมือนเดิมแก้ปัญหาครูก็แก้กันที่ “กำลังใจ” ครูที่เรียกร้องกันมา มากกว่าเพิ่มพูนสติปัญญาและความมีจิตอาสา ปัญหาการศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินให้ครู หาแหล่งเงินกู้ใหม่ให้ ลดดอกเพิ่มต้นให้ เอาหนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า แล้วจะหมดเมื่อไรก็ไม่รู้ ถ้าหากคิดว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ทางเศรษฐกิจสังคมเป็นสาเหตุหลักของปัญหาคุณภาพการศึกษา คงต้องรออีกกี่ชาติก็ไม่รู้ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูประบบโครงสร้างทั้งหมด เพื่อให้การศึกษาดีกว่าที่เป็นอยู่ เอาแค่การกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ยากที่ทำให้เกิดได้ แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมใช่ว่าต้องเกิดจาก “ข้างบน” เพราะถ้าจะเปลี่ยนอย่างยั่งยืนต้องเปลี่ยนจาก ท้องถิ่น มาจาก “ข้างล่าง” ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม วันนี้ก็มีตัวอย่างหลายโรงเรียนที่เดินหน้าปฏิรูป มีหลายองค์กรที่กำลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงการศึกษาจาก “ข้างล่าง” โรงเรียนเหล่านี้ องค์กรเหล่านี้ ทำการปฏิรูปการศึกษาด้วยการกลับไป “ตั้งหลักใหม่” และหลักที่ว่าคือหลักของความถูกต้องดีงาม หลักคุณธรรม ให้รัฐบาล ให้ผู้บริหารการศึกษา ให้ครู และผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ปรับกระบวนทัศน์ใหม่อย่างจริงจัง ลองศึกษาเพียงกรณีเดียว คือ มูลนิธิยุวสถิรคุณ ที่ส่งเสริมโรงเรียนคุณธรรม ที่เริ่มจากประสบการณ์ของโรงเรียนที่บางมูลนาก โรงเรียนที่มีศิษย์เก่าอย่างคุณหมอเกษม วัฒนชัยและผู้นำระดับประเทศอีกหลายคน ที่โรงเรียนนี้ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ต่างก็ร่วมกันทำแผนการศึกษาด้วยกรอบคุณธรรม 3 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความมีน้ำใจ จากโรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำ เด็กติดยา ท้องระหว่างเรียน และปัญหาสารพัด เปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนที่ทุกคนชื่นชมและอยากให้ลูกไปเรียน เพราะโรงเรียนนี้เชื่อมโยงเรื่องการเรียนกับชีวิตจริง และลงมือปฏิบัติทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งที่โรงเรียน ที่บ้าน ที่ชุมชน เวลาเรียนกับเวลารู้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเรียนรู้ตลอดเวลา ผู้บริหาร ครู นักเรียน ต่างก็ตั้งเกณฑ์และกำหนดตัวชี้วัดเองว่า จะทำอย่างไรให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ รับผิดชอบและมีจิตอาสา โดยไม่ต้องหลอกตัวเองหรือหลอกกันเองแบบทำบัญชีความดี ธนาคารความดี ที่สั่งลงไปทีก็ทำทีจนเลิกไปปฏิรูปการศึกษาที่มีฐานคิดแบบมูลนิธิยุวสถิรคุณเป็นความหวังให้สังคมไทย เพราะแก้ปัญหาที่มาสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดของสังคม คือ การขาดคุณธรรม ทำให้โรงเรียนเกิดคุณธรรมเพียง 3 ประการ การศึกษาเปลี่ยนจากรากฐานได้