จากการที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ, พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4, และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) และนายทหารระดับสูงจากกองทัพบก เดินทางไปเยือนจังหวัดอาเจะห์ เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ผู้นำสูงสุดของกองทัพบกไทย ที่ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ.ของไทยคนแรกที่ไปเหยียบแผ่นดินอาเจะห์ เกาะสุมาตรา ดินแดนดินแดนที่เป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาแบ่งแยกดินแดนของประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก วัตถุประสงค์ของการเยือนดินแดนแห่งนี้ เพื่อลงนามความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับอินโดนีเชีย พร้อมทั้งร่วมถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาในอดีต นำไปสู่แนวทางการพัฒนาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตร่วมกัน โดยจะใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบเดียว "อาเจะห์" ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการคิดต่างของคนกลุ่มนี้กับแผ่นดินแม่ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจ และการอยู่ร่วมกันของทุกฝ่าย และด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพ ทำให้การหารือระหว่างคณะของ ผบ.ทบ.ไทยภายใต้การนำของ พล.อ.อภิรัชต์ กับคณะของกองทัพบกอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จด้วยดีอย่างมีความหวังในความร่วมมือกันแก้ปัญหาปลายด้ามขวานของไทยให้สามารถนำความเห็นร่วมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของพี่น้องคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำสูงสุดของกองทัพบกทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประเด็นคือ ลงนามอนุสัญญา MOU ระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกอินโดนีเซีย แม้ว่าการพบปะครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 แล้ว (Implementing Arrangement) หากแต่ว่า ที่ผ่านมา ข้อตกลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการฝึกศึกษา และแลกเปลี่ยนนายทหารนักเรียน, การให้ความร่วมมือด้านการฝึกร่วมระหว่างกำลังพลของทั้ง 2 กองทัพ ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน หากแต่ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญยิ่งก็คือ การให้ความเข้าใจระหว่างกกองทัพทั้งสองประเทศ ในการนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาความไม่สงบปลายด้ามขวานของไทยเป็นสำคัญ โดยสาระสำคัญสำหรับกองทัพบกไทยและประเทศไทยก็คือ การประชุมหารือ Minute Meeting ที่ได้มีการประชุมหารือ และบันทึกการประชุมร่วมกัน โดยมีประเด็นสำคัญหลักอันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการดับไฟใต้ ตามอาเจะห์โมเดล ใน 3 เรื่อง คือ 1.การให้ความร่วมมือในด้านความมั่นคงระหว่าง 2 ประเทศ โดยไม่ยอมให้บุคคลที่เป็นภัยของทั้งสองประเทศใช้พื้นที่ของประเทศตนในการก่อการร้าย 2.การติดตามความเคลื่อนไหวบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายและเป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของทั้งสองประเทศ รวมถึงในภูมิภาคด้วย และ 3. การสกัดกั้นการลงมือของกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นบุคคลหรือกลุ่ม ที่จะใช้พื้นที่ของประเทศไทยและอินโดนีเซียกระทำผิดต่อความมั่นคงภายในของทั้ง 2 ประเทศและภูมิภาค ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันที่จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางทหาร เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ซึ่งจากความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ผู้ก่อความไม่สงบถูกจำกัดเสรีในการก่อเหตุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลบหนี การฝึกกำลัง หรือใช้เป็นแหล่งพักพิง ถือเป็นการพัฒนาร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของสองประเทศ และสร้างความมีเสถียรภาพความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน การเหยียบแผ่นดินจังหวัดอาเจะห์ ของประเทศอินโดนีเซียในครั้งนี้ ของผู้นำกองทัพบกของไทย นอกจากจะเป็นการปฏิบัติการสัญลักษณ์ที่ส่งสัญญาณให้บรรดาสมาชิกในขบวนการป่วนใต้ของไทยได้รับรู้และตระหนักว่า การเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มคนหัวรุนแรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย กำลังถูกจำกัดลง อันจะเป็นการลดโอกาสในการก่อเหตุร้ายลงไปได้มาก ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนในขบวนการร้ายแห่งนี้ ตลอดจนแนวร่วมขบวนการทั้งหลาย จะได้รับรู้และฉุกคิดได้ว่า พวกเขาควรจะต้องมีท่าทีอย่างไรในการต่อสู้กับรัฐไทย เพราะประเทศยักษ์ใหญ่ของอิสลามที่อยู่ใกล้ชิดกับแผ่นดินภาคใต้ของไทย กำลังเป็นและเห็นด้วยกับฝ่ายไหน นอกเหนือจากประเทศมาเลเซียที่อยู่ติดกับดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ของไทย ที่ยังเดินหน้าช่วยรัฐไทยในการดับไฟใต้ไม่เต็มกำลัง และเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ไปเยือนถึงอาเจะห์ ดินแดนที่เคยลุกเป็นไฟจากการเห็นต่าง และนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่ดินแดนแห่งนี้ได้ ย่อมส่งสัญญาณให้ผู้ก่อการในขบวนการทั้งหลายได้หวาดหวั่นไม่มากก็น้อย และทำให้เห็นว่า ประเทศมุสลิมใหญ่ในภูมิภาคนี้ กำลังให้การสนับสนุนและร่วมมือกับฝ่ายใด ในขณะเดียวกันประเทศมาเลเซียที่ยื่นมือมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อการดับไฟใต้ในรายแรกๆ จะได้เห็นว่า ยังมีประเทศมุสลิมที่ใหญ่กว่า กำลังยื่นไมตรีจิตเพื่อเข้ามาช่วยไทยในการแก้ปัญหาไฟใต้ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น หากมาเลเซีย ยังต้องการเป็นตัวหลักสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ดับไฟความไม่สงบของพื้นที่อีกหนึ่งในโลกใบนี้ ประเทศมาเลเซีย จะต้องให้ความจริงจังในการขับเคลื่อนสันติสุขมาสู่ดินแดนปลายด้ามขวานของไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะตัวช่วยในการสร้างประวัติศาสตร์ในการนำสันติสุขมาสู่ดินแดนแห่งนี้ จะไม่ใช่ประเทศมาเลเซียแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว และการเยือนอาเจะห์ ของประเทศอินโดนีเซีย ของคณะ ผบ.ทบ.ไทยครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียว ได้นก 4 ตัว ก็ว่าได้ กล่าวคือ 1.ส่งสัญญาณให้บรรดาสมาชิกขบวนการร้ายปลายด้ามขวานเห็นถึงอนาคตที่ไม่เป็นไปดังที่หวัง และหมดกำลังใจ หันมาแสวงหาการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีในที่สุด 2. ส่งสัญญาณให้มาเลเซียที่เป็นดินแดนชิดติดกับพื้นที่ขัดแย้ง ต้องเร่งบทบาทนำในการช่วยดับไฟใต้อย่างจริงจังมากขึ้น 3.ความร่วมมือระหว่างกองทัพทั้งไทยและอินโดนีเซียที่บ่งบอกถึงมิตรภาพ ย่อมนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไปอย่างไม่มีข้อสงสัย 4.เป็นการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่ขยายวงกว้างออกไปอีกรอบหนึ่ง ให้การปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ในการดับไฟใต้มีความกระชับแน่นและส่งผลต่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งแหล่งบ่มเพาะทางความคิด กำลังใจแนวร่วมทางอุดมการณ์ แหล่งฝึกอาวุธ และแหล่งพึ่งพิงของสมาชิกขบวนการ ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เหล่านี้ คือความกล้าหาญ และความชาญฉลาดของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่พยายามหาแนวทางและยุทธศาสตร์การดับไฟใต้ใหม่ๆ ที่จะจะส่งผลดีกว่าแนวทางและยุทธศาสตร์เดิมๆ ที่เคยทำมา เพราะมันถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวทางและยุทธศาสตร์ที่เคยเดินมาเพื่อการดับไฟใต้ของรัฐ ได้ผลสำเร็จน้อยเกินกว่าที่ลงทุนไป การเดินเกมของ ผบ.ทบ.ครั้งนี้ จึงเรียกโดยสรุปตามภาษาทางทหารได้ว่า เป็นการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ต่อโจรใต้ได้อย่างเหนือชั้นยิ่ง