รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“ดัชนีความเชื่อมั่นครู” อันเป็นดัชนีซึ่งมีตัวชี้วัด 30 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อครูไทย ทั้งในด้านส่วนตัว ชุมชน และการพัฒนาวิชาชีพ ตลอดจนพัฒนาประเทศนั้น เริ่มมีการสำรวจครั้งแรก โดย “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในปี 2552 จวบจนปัจจุบันปี 2562 ก็นับเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 11 ปี ที่ได้มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นพัฒนาการความเห็นคิดของประชาชนที่มีต่อครูได้ค่อนข้างชัดเจน...
ภาพสะท้อนของ “ดัชนีความเชื่อมั่นครูไทย” ตลอด 11 ปีที่ผ่านมานั้น สามารถสรุปได้ ดังนี้ ผลการสำรวจใน ปี 2552 มีคะแนนเฉลี่ย 7.44 ปี 2553 มีคะแนนเฉลี่ย 7.83 ปี 2554 มีคะแนนเฉลี่ย 7.85 ปี 2555 มีคะแนนเฉลี่ย 7.86 ปี 2556 มีคะแนนเฉลี่ย 7.80 ปี 2557 มีคะแนนเฉลี่ย 7.58 ปี 2558 มีคะแนนเฉลี่ย 7.43 ปี 2559 มีคะแนนเฉลี่ย 7.71 ปี 2560 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 7.69 ปี 2561 มีคะแนนเฉลี่ย 6.48และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปิดเผยผลการสำรวจ ปี 2562 มีคะแนนเฉลี่ย 6.25 จากคะแนนเต็ม 10
เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยของปี 2562 แล้ว เชื่อว่า “ครู” อาจจะรู้สึกเสียใจบ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จะพบว่าความเชื่อมั่นครูไทยมีคะแนนลดลง ซึ่งแม้จะมีคะแนนลดลงก็ไม่อยากให้ครูรู้สึกท้อแท้หรือไม่สบายอกไม่สบายใจ แต่อยากให้มองว่าคะแนน 6.25 เต็ม 10 นั้น เป็นระดับคะแนนที่ “สอบผ่าน” อย่างชัดเจน โดยสังคมยังคงเชื่อมั่นในวิชาชีพครูค่อนข้างมาก ดังนั้นครูต้องมุ่งมั่น ตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาด้านการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ต้องหวังพึ่งพาครูให้เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการแก้ไขและขับเคลื่อนการศึกษาไทย
ทั้งนี้ จากผลสำรวจ “ความเชื่อมั่นครู” ปี2562 ทำให้พบว่าดัชนีที่มีคะแนนสูงสุด และต่ำสุด 3 ลำดับ ดังต่อไปนี้ ดัชนีที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ คะแนนเฉลี่ย 6.61 รองลงมา ได้แก่ ความทันสมัย/ทันเหตุการณ์/รู้ข้อมูลข่าวสาร คะแนนเฉลี่ย 6.55 และมีความเป็นผู้นำ คะแนนเฉลี่ย 6.54
ขณะที่ดัชนีที่มีคะแนนต่ำสุด 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ คือ อุดมการณ์ จิตสำนึก ความรักในวิชาชีพครู มีคะแนนเฉลี่ย 5.81 มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณของความเป็นครู มีคะแนนเฉลี่ย 5.82 และการไม่เป็นหนี้เป็นสิน เป็นประเด็นที่มีคะแนนเฉลี่ย 5.91
“จุดเด่น” ของ “ครูไทย” ในปี 2562 ที่ประชาชนตอบมากที่สุด ร้อยละ 36.31 คือ มีความมุ่งมั่นในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ รองลงมา ได้แก่ ขยัน อดทน เสียสละ ต้องรับผิดชอบงานหลายๆ อย่าง ร้อยละ 21.14 ให้การอบรมสั่งสอนที่ดี ไม่ยึดติดความคิดแบบเดิม ร้อยละ 17.04 การจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายมากขึ้น ร้อยละ 13.88 และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เป็นผู้ให้ความรักความห่วงใย ร้อยละ 11.63
“จุดด้อย” ของ “ครูไทย” ในปี 2562 ที่ประชาชนตอบมากที่สุด ร้อยละ 33.12 คือ ขาดทักษะด้านเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ รองลงมา ได้แก่ ขาดการควบคุมอารมณ์ ยังคงใช้คำพูดและการลงโทษที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 20.00 มีปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 18.52 ไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ร้อยละ 16.90 และสั่งงาน สั่งการบ้านเยอะ ไม่สอนให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ ร้อยละ 11.46
คะแนนเฉลี่ยของดัชนีครูแม้จะผ่านเกินครึ่ง แต่ในเบื้องลึกก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า อันดับคะแนนสูงสุดและต่ำสุดนั้น ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึง “จุดเด่น” และ “จุดด้อย” ในสายตาประชาชน ซึ่งในประเด็นที่เป็น “จุดเด่น” ก็จำเป็นจะต้องรักษาให้คงอยู่ต่อไป ส่วนประเด็นที่เป็น “จุดด้อย” ก็ต้องแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด
“จุดด้อย” ของครูในสายตาประชาชน ทั้งเรื่องการขาดทักษะด้านเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ ขาดควบคุมอารมณ์ เป็นหนี้ ค่าใช้จ่ายมาก ไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หรือแม้แต่สั่งการบ้านเยอะ ไม่สอนให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ ล้วนเป็น “จุดด้อย” ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะคงต้องยอมรับว่า “ครู” ถือเป็นอาชีพที่เป็นมากกว่าอาชีพ ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของความเป็นวิชาชีพที่เป็นแบบอย่างของความดีงามให้สมกับการเป็น “พ่อพิมพ์...แม่พิมพ์...ต้นแบบที่ดีของสังคม”
ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย จนมาถึงยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ... “ครู” เป็นวิชาชีพที่ถูกคาดหวังในการเป็น “เสาหลัก” ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาในทุกด้าน เพื่อพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพเด็กและเยาวชน ให้เป็นคนเก่ง คนดีและมีคุณภาพ เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ และมีศักยภาพเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในโลก ศตวรรษที่ 21 แล้ว ย่อมทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมยิ่งคาดหวังการทำงานที่มีประสิทธิภาพของครู
เมื่อคาดหวังการทำงาน ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญครู ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เข้าใจเป็นอย่างดี ทำให้นโยบายการปฏิรูปครู ให้ทันโลกยุคดิจิทัล เช่น การบูรณาการงบประมาณของศธ.ทั้งระบบ การจัดทำศูนย์ข้อมูล (DATA CENTER) การปรับตัวเข้าไปสู่โลกในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารและครูทุกคน ต้องปรับตัวให้มีทักษะด้านดิจิทัล มีความรู้ด้าน ภาษาอังกฤษ
เมื่อรัฐบาลเข้าใจปัญหา มุ่งพัฒนาพัฒนา “ครู” อย่างต่อเนื่องแล้ว ไม่เพียงแต่สังคมไทยจะได้ “ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา” ตามคำขวัญนที่ท่านายกรัฐมนตรีได้มอบให้แก่วันครู ครั้งที่ 64เท่านั้น แต่เชื่อว่า “จุดด้อยของครู” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้ง “ดัชนีความเชื่อมั่นครู” น่าจะได้รับการแก้ไข...ถ้าไม่เชื่อคงต้องติดตาม “ดัชนีความเชื่อมั่นครู ปี 2563”...แล้วจะได้ “คำตอบ” ชัดชัดแน่นอน!!