เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ตลาดโลกต้องการอาหารอินทรีย์ ประเทศไทยไม่สามารถตอบสนองได้เพราะถูกครอบงำด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่นายทุนในชาติและข้ามชาติที่มีผลประโยชน์สูงกับปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย กฏกระทรวง ยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เมื่อ 25 ปีที่แล้ว กระทรวงเกษตรมีรัฐมนตรีช่วยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ยกเลิกภาษีปุ๋ยและยาเพื่อการเกษตร ชาวไร่ชาวนาพอใจเพราะจะได้ใช้ปุ๋ยยาราคาถูกลง รู้แต่ด้านดี ไม่รู้ด้านเสีย จนถึงวันนี้เกษตรกรรมไทยอยู่ภายใต้อำนาจของนายทุนใหญ่ที่โหมกระหน่ำโฆษณาและสร้างแรงจูงใจสารพัดจนคนคิดอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากทำการเกษตรด้วยสารเคมี จนมาถึงการทำนาแปลงใหญ่ด้วยเหตุผลที่ว่าต้นทุนถูกลง รายได้ดีขึ้นโดยไม่ได้ให้ความสนใจส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยรายเล็กรายน้อยที่ทำนาทำไร่ในพื้นที่ 5 ไร่ 10 ไร่ ว่าทำอย่างไรให้เขาอยู่รอด พอเพียงและมั่นคงได้ ซึ่งมีวิธีการมากมายถ้ารัฐอยากทำ แต่ก็ปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมมากกว่า เกษตรอินทรีย์ทำได้ดีที่สุดในนาแปลงเล็ก ที่ดินผืนเล็กที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ใช้แรงงานในครัวเรือน ถ้าหากแปลงเล็กๆ รวมกันสักล้านแปลง ก็จะได้ 5 ล้าน 10 ล้านไร่ และทำไมจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้าวปลาอาหารอินทรีย์ที่โลกได้ ในทางตรงกันข้าม การปล่อยให้มีการโฆษณาสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ที่ทำให้ไทยสั่งเข้าและใช้สารอันตรายนี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกร สุขภาพของผู้บริโภค ค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลสุขภาพของชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านชาวเมืองที่กินผลผลิตเหล่านั้นมากมายมหาศาลเพียงใด ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดินที่แข็งและตายไป ป่าไม้ที่เหี้ยนเตียน แม่น้ำลำคลองที่เหือดแห้งเน่าเสีย อากาศที่เป็นพิษ มลภาวะที่ทำลายสุขภาวะของประชาชน ไปถามชาวเขาที่ปลูกข้าวโพดที่น่านว่ามีคุณภาพชีวิตเช่นไร ขายข้าวโพดก็นำเงินไปใช้หนี้และจ่ายค่าหมอค่ายาไม่เหลือ เพราะสารเคมีเข้าขั้นตรายอยู่ในสายเลือด ต้องไปกู้ใหม่ วนเวียนในวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน ความเจ็บป่วยและความตาย สภาวะอันน่าเศร้าทั้งหมดนี้ รวมทั้งดอยน้อยใหญ่จังหวัดน่านโล้นเตียน บริษัทอาหารสัตว์ไหนออกมารับผิดชอบบ้าง คุณเดชา ศิริภัทรและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ได้ต่อสู้มากว่า 20 ปี มีนักการเมือง มีรัฐบาลสนใจ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ได้อย่างจริงจัง ปัญหาใหญ่อยู่ที่เกษตรกรถูกครอบงำให้ทำนาทำไร่โดยต้องใช้สารเคมี ฝังหัวมาหลายสิบปี ยากที่จะเปลี่ยน เป็นการเสพติดที่ร้ายแรงกว่าสารเสพติดอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะติดเหล้าติดบุหรี่และยาเสพติดยังรู้ตัว อันนี้ไม่รู้ตัว เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้ว่าอะไร เห็นโฆษณาทุกวันทางสื่อต่างๆ ทีวีวิทยุ เป็นการครอบงำด้วยอำนาจอย่างแนบเนียน (hegemony) ทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่ยอมรับได้ ประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ให้มีการโฆษณายารักษาโรค เมืองไทยยังทำได้ เขาไม่ให้โฆษณาสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ประเทศไทยยังทำได้ แต่ก็ยังมีเรื่องน่าดีใจที่ประเทศไทยเก่งอันดับต้นๆ ของโลกในการรณรงค์เรื่องการโฆษณาบุหรี่และแอลกอฮอร์ มีกฎหมายออกมาต่อเนื่องและ “แรง” ขึ้นเรื่อยๆ เพราะบุหรี่เหล้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนมีการนำภาษีเหล้าบุหรี่มาตั้งเป็นกองทุนรณรงค์ต่อต้านเรื่องสารอันตรายเหล่านี้ สารเคมีอันตรายกว่าบุหรี่และเหล้า ทำลายสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค ทำลายดิน น้ำ ป่า อากาศ สภาพแวดล้อม มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ประเทศชาติต้องใช้เงินมากมายมหาศาลเพื่อดูแลสุขภาพ รักษาความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งและสารพัดโรคที่มาจากสารเคมีที่เป็นพิษร้ายเหล่านี้ รวมทั้งงบประมาณอีกนับไม่ถ้วนในการฟื้นฟูธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อม ขณะที่นายทุนร่ำรวยขึ้น เสพสุขบนความทุกข์ยากของเกษตรกร ความเจ็บป่วยของชาวบ้าน เศรษฐกิจเติบโตบนโศกนาฎรรมทางสังคม ถึงเวลาที่ประชาสังคมจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้สังคมโดยรวม ให้เกษตรกร ให้ผู้บริโภคผลผลิตจากการเกษตรที่เป็นพิษ อย่างแรกคือห้ามโฆษณาสารเคมีเหล่านี้เหมือนบุหรี่เหล้า และให้รัฐบาลเก็บภาษีปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง นำภาษีที่ได้มาส่งเสริมอุดหนุนเกษตรอินทรีย์ ลองประกาศซื้อข้าวอินทรีย์สักเกวียนละ 15,000 บาทดูบ้างเถิด ไม่นานเกษตรกรจะหันมาปลูกข้าวอินทรีย์กัน รัฐบาลไม่ต้องลงทุน 15,000 บาท เพียงนำเงิน 3,000 บาทไปอุดหนุนสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนที่ซื้อข้าวอินทรีย์ 12,000 บาทต่อเกีวยน ปฏิรูปอาจไม่ใช่การรื้อระบบทั้งหมด แต่หมายถึงการเปิดทางออกทางเลือกต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย