รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ความ “ใหม่”... “ไม่ใหม่” ตัดสินด้วยอะไร? เชื่อว่าเป็นคำถามที่ต้องยอมรับว่าตอบยาก เนื่องจากความ “ใหม่”... “ไม่ใหม่” ไม่ได้มีตัวแปรสำคัญเพียงแค่ “เวลา” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเปรียบเทียบจากอารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่ประสบการณ์ของบุคคลแต่ละคนเป็นตัวกำหนด แต่อย่างไรก็ตามจากการที่ “เวลา” เป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญของการกำหนดความ “ใหม่” ความ “ไม่ใหม่” ดังนั้นช่วงระยะเวลาที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ซึ่งได้แก่ ระยะเวลา “365 วัน” “12 เดือน” หรือ “1ปี” จึงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ จนทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และสามารถตัดสินได้ว่า อะไร “ใหม่” อะไร “ไม่ใหม่” ดังนั้น “ปี” จึงกลายเป็นระยะเวลามาตรฐานแห่งการประเมินความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่างๆ การเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปี 2563 ที่ผ่านพ้นไปนั้น จึงถือเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นของปีใหม่ รวมถึงวันสำคัญต่างๆ ที่แวะเวียนมาบรรจบครบรอบปี โดยวันสำคัญในลำดับแรกของปีที่หลายคนคงไม่อาจละเลยได้ คงหนีไม่พ้น “วันเด็ก” และ “วันครู”… สาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไม่อาจละเลยวันสำคัญดังกล่าว เนื่องจาก “เด็ก” เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต เป็นตัวจักรสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคง หากเด็กมีคุณภาพ อนาคตของชาติก็น่าจะเจริญรุ่งเรือง แต่หากเด็กไร้ซึ่งคุณภาพอนาคตของชาติก็น่าจะยากที่อยู่รอด เมื่อ “เด็ก” มีความสำคัญต่อประเทศชาติ การจัดงาน “วันเด็ก” เพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก และกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในเชิงจิตวิทยา จากเหตุผลดังกล่าวทำให้นายวี เอ็มกุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศได้ “จุดประกาย” ให้เกิดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในเมืองไทย งานวันเด็กครั้งแรกถูกจัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ.2498 และได้จัดติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีจนกระทั่ง พ.ศ.2506 ต่อมาในปี พ.ศ.2508 ก็มีการเปลี่ยนแปลงและถือเอาวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแห่งชาติมาจนถึงปัจจุบันนี้ ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับ “วันเด็ก” ที่ถือปฏิบัติกันมาทุกปีนั้น ก็คือ การที่นายกรัฐมนตรีมอบคำขวัญวันเด็ก อันเป็นแนวทางให้เด็กทุกคนได้ปฏิบัติตาม โดยคำขวัญวันเด็กที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2555 คือ “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” คำขวัญวันเด็กดังกล่าวไม่ได้เป็นแต่แนวทางปฏิบัติของเด็กเพียงเท่านั้น แต่เป็นแนวทางปฏิบัติของ “ครู” เพื่อใช้ในการพัฒนาเด็ก ซึ่งการพัฒนาเด็กตามแนวทางดังกล่าว ย่อมเป็นการทำให้ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่กว่าจะได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดนั้น จำเป็นต้องอาศัย “ครู” ที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการถ่ายทอด เมื่อเป็นเช่นนั้น “ครู” จึงถือเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์อันเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของสังคม ดังนั้น “16 มกราคม” ของทุกปี คือ “วันครู” วันที่ตอกย้ำให้สังคมได้เห็นและให้ความสำคัญแก่ “ครู” อาชีพที่เสียสละและมุ่งมั่นในการสร้างเด็ก และเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ เพราะ “ครู” คือ ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ... จากความสำคัญของ “ครู” ทำให้การจัดงานวันครูได้ถูก “จุดประกาย” ขึ้น ในปี 2499 จากการคำกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่า “เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย” จากแนวคิดดังกล่าวกอปรกับความคิดเห็นของสังคมที่เห็นว่าครูมีความสำคัญนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงบุญคุณและเห็นถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” ในส่วนของแนวทางของการจัดงาน “วันครู” ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 มีแก่นสาระการจัดงาน คือ “โลกก้าวไกล ครูไทยก้าวทัน สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย” ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ ความเป็นมาเพียงบางส่วนของวันเด็กและวันครู อีกหนึ่งวันสำคัญหลังเทศกาลปีใหม่ที่สังคมไม่ควรมองข้าม เพราะหลังจากที่คนในสังคมต่างเฉลิมฉลองกับวันปีใหม่อย่างมีความสุข ก็ไม่อยากให้ละเลยวันเด็กที่กำลังจะตามมา เพื่อให้เด็กได้มีความสุขอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอยากให้มองข้ามไปถึงการหวนระลึกถึงพระคุณครูโดยการแวะเวียนเยี่ยมเยียน “ครู” ด้วยแล้ว ย่อมทำให้ “ครู” จำนวนไม่น้อยรู้สึกเป็นปลื้มกับความสุข และการแสดงความกตัญญูของลูกศิษย์ลูกหา แล้วหากเทศกาล “วันปีใหม่” สู่ “วันเด็ก” ถึง “วันครู” ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องก็คงทำให้ปีใหม่ 2563 เป็นปีใหม่แห่งความสุขของคนทุกเพศ ทุกวัย หรือความสุขแบบต่อเนื่องอย่างแท้จริง...