รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
หากพิจารณาจากความหมายของคำว่า “ความสนใจ” (Interest) โดยทั่วไปหมายถึง ความรู้สึกในทางที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของพฤติกรรมเป็นในทางที่ดี เช่น ทุ่มเทเวลาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจมากขึ้น ก็คงต้องยอมรับว่า “ความสนใจ” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หรือแม้แต่ “การพัฒนาการเมือง” เนื่องจากหากคนในสังคมมีความสนใจทางการเมืองแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมทางการเมือง
เมื่อ “ความสนใจทางการเมือง” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ดังนั้น การสร้างหรือการกระตุ้นในสังคมเกิดความสนใจทางการเมืองนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัย “สื่อมวลชน” ซึ่งเป็นสถาบันที่บทบาทต่อการสร้างความสนใจ หรือมีอิทธิพลต่อการโน้มนำความคิดของสาธารณชนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในสังคม
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ณ วันนี้ มีหลายประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้น จำเป็นต้องมีการสำรวจความสนใจทางการเมืองของประชาชน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการนำเสนอข่าวของสื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมให้กับรัฐบาลต่อไป โดย “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งสอบถามคิดเห็นของประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,271 คน ในประเด็น “ข่าวการเมือง ณ วันนี้ ที่ประชาชนสนใจ” ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ สรุปผลได้ดังต่อไปนี้
ประเด็น “5 อันดับข่าวการเมือง” ที่ประชาชนสนใจติดตามมากที่สุด พบว่าเหตุการณ์บ้านเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด ร้อยละ 62.18 คือ ปารีณา รุกป่า-รุกที่ดิน จ.ราชบุรี เพราะ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นฝ่ายรัฐบาล อยากรู้ความคืบหน้าในการดำเนินคดี เป็นกรณีตัวอย่างให้กับประชาชนและคนจนที่ถูกดำเนินคดีลักษณะนี้ อยากรู้ว่ากฎหมายไทย 2 มาตรฐานจริงหรือไม่ เป็นประเด็นที่สะท้อนถึงปัญหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้เงินธนาธร 191.2 ล้านบาท ร้อยละ 52.96 เพราะเป็นพรรคใหม่ มีอุดมการณ์ มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก มีหลายประเด็นที่ กกต. ชี้แจงไม่ชัดเจน อาจเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หากยุบพรรคจริงอาจเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง กลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น ฯลฯ
นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ร้อยละ 22.44 เพราะ ทุกวันนี้ประชาชนยังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาแบบประชานิยมมากเกินไป ไม่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว อยากให้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตรงจุด รัฐบาลมีการกู้เงินและใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นห่วงการพิจารณางบประมาณและการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ฯลฯ
ส.ส.งูเห่า ลาออก ย้ายฝ่าย ร้อยละ 19.39 เพราะ เป็นปรากฏการณ์ที่มีให้เห็นจากการเมือง ลุ้นว่าจะมีใครเพิ่มอีกหรือไม่ อยากให้เข้ามาเพื่อช่วยเหลือทำประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังอำนาจหรือหวังผลใดๆ นักการเมืองขาดคุณธรรมจริยธรรม ไม่คำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ ฯลฯ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 15.79 เพราะ อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่อยากเห็นกฎหมายที่เอนเอียง สองมาตรฐาน ใช้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งแตกแยก ใส่ร้ายโจมตี ทำให้เกิดความวุ่นวาย เหมือนเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ
นี่คือ ผลการสำรวจที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาของสังคมที่มีต่อการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้แล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนของความสนใจ ความกระตือรือร้น และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามคำกล่าวที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” อีกด้วย
พูดง่ายง่าย ก็คือ ณ วันนี้ เมื่อประชาชน สนใจการบ้านการเมือง ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น ตลอดจนฉลาด รู้เท่าทันนักการเมือง เกมการเมืองแล้ว “โจทย์ยาก” ของการขับเคลื่อนการเมืองนั้น ก็คงตกเป็นหน้าที่ของ “นักการเมือง” ที่ต้อง ปฏิบัติตามความต้องการประชาชน เพราะหากหวังจะใช้เพียง “กลยุทธ์เก่าเก่า” ประเภทสร้างกระแส ทำสงครามน้ำลาย สาดโคลน โจมตีกัน โดยละเลยการลงมือทำงาน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว เชื่อว่าการจะอยู่ในวงการการเมืองไทย เป็นเรื่องยากแน่นอน..!!
“ประชาชน” สนใจการเมือง ดูแล้วย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศชาติ แต่จะเป็นเรื่องดีต่อนักการเมือง (หรือไม่?) คงต้องขึ้นอยู่กับตัวนักการเมืองเอง ซึ่งต้องปรับตัวให้ตรงตามความต้องการของประชาชน... แต่ก็ไม่รู้ว่า “นักการเมืองไทย” จะเอาตัวรอดกับ “การเฝ้าติดตามดูพฤติกรรม” ของประชาชนอย่างไร?
เพราะดูจากพฤติกรรมที่ปรากฏแล้ว คงต้องบอกแบบไม่เกรงใจว่าการจะหาที่ยืนในใจประชาชน ก็คงเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด..!! ซ้ำร้ายหากยังมีพฤติกรรมแบบเดิมเดิมเช่นนี้ ผลร้ายคงไม่เกิดกับ “ตัวนักการเมือง” เท่านั้น…
แต่ส่งร้ายจะส่งผลต่อการเมืองไทย และทำให้ประชาชน “เบื่อหน่าย...ไม่สนใจการเมืองไทย” แน่นอน..!! คิดแบบนี้แล้ว...ก็ยิ่งอดห่วงการเมืองไทยไม่ได้จริงจริง!!