แสงไทย เค้าภูไทย
รัฐบาลประยุทธ์ ทำสถิติทางเศรษฐกิจใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดภาคครัวเรือนมีรายได้รายจ่ายและเงินออม ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) นำข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย (Household Socio-Economic Survey: SES) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี สามารถแยกแยะสรุปได้ 5 ข้อคือ
1.รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
2.การใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
3.กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยมีความเปราะบางในหลายมิติ โดยภาระหนี้สูงกว่ารายได้ ในช่วง 10 ปี
4.ครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงต่ำสุดนับแต่ปี 2556 ( 6 ปี เป็นช่วง คสช.ยึดอำนาจ)
5.ครัวเรือนรายได้น้อยมีการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เช่นเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ สวัสดิการคนจน ฯลฯ
อีกด้าน ภาคเอกชนมองว่าศรษฐกิจไทยยังไร้ปัจจัยบวกต่อเนื่องในปีหน้า ทุกภาคชะลอ ต่อเนื่องไร้สัณญาณฟื้นตัว จากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอย
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วหลายรอบกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับมาได้
กำลังซื้อที่หดตัวนี้ สิ่งที่ชี้ชัดคือด้านค้าปลีก อันมีสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันยอดขายลดลงอย่างหนัก
ถึงขนาดยักษ์ใหญ่ซีพีเจ้าของเซเว่น อีเลฟเว่นที่มาแย่งลูกค้าร้านโชวห่วยต้องปิดสาขาไปกว่า 1,000 แห่ง
เศรษฐกิจตกต่ำจนถึงที่สุดในหลายด้าน เช่นหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 6 ปี หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงใกล้ชนเพดานสัดส่วนต่อจีดีพี คอร์รัปชันสูงสุดในรอบทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ในทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
โรงงานอุตสาหกรรม กิจการ ห้างร้านพากันปิดตัวเกือบ 2,000 แห่ง
คนตกงานตัวเลขล่าสุด 4.95 แสนคน เพิ่มขึ้นถึง 251%จากปีที่แล้ว
ยิ่งกว่านั้น นโยบายการคลังก็ผิดพลาดเรื้อรัง ทำให้ค่าบาทแข็งไม่ลดมาตลอด 6 ปี เป็นตัวทำลายตลาดส่งออก
ด้านการเมือง ความแตกแยก ควาามคิดเห็นต่าง ความขัดแย้ง การใช้กลไกในกระบวนการยุติธรรมทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม จนทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความเชื่อถือจากสังคม ถือเป็นความเสื่อมเหลื่อมล้ำที่สุดในประวัติศาสตร์
การใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยเนติบริกรลือกข้างที่อิงประโยชน์ให้ฝ่ายสืบทอดอำนาจคสช. อย่างเด่นชัดจนประชาชนสามารถแยกแยะได้
เหล่านี้คือภาพติดลบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง
ช่วงที่คสช.ยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง เป็นช่วงที่บ้านเมืองแตกแยกกันอย่างหนัก คนไทยส่วนใหญ่มีความหวังว่า คณะรัฐประหารจะสามารถขจัดความแตกแยก ขัดแย้งภายในชาติอย่างรุนแรงได้ และใช้เวลา “อีกไม่นาน” ตามที่พลเอกประยุทธ์ ประกาศและใช้เป็นเนื้อร้องเพลงเปิดรายการทอล์กโชว์ของนายกฯทางสถานีวิทยุ
แต่เวลาที่บอกว่าไม่นานนั้น กลายเป็นนานเกินไป ซ้ำยังล้มเหลวในการทำให้ความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองของคนไทยลดลง
ร้ายไปกว่านั้นคสช.กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
การใช้อำนาจรัฐ ใช้กระบวนการยุติธรรมกำจัดฝ่ายเห็นต่างและนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทำให้สังคมรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม
ระยะเวลา 6 ปีที่คสช.ครองอำนาจบริหารประเทศและสืบทอดอำนาจอีก 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลคสช.ใส่ใจแต่ด้านการเมือง ปล่อยให้ เศรษฐกิจไทยเติบโตตามธรรมชาติ
ยังดีที่เศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น ไทยได้อานิสงส์จากการส่งออกที่มีมูลค่าเป็นสัดส่วนถึง 70 %ของจีดีพี พร้อมกับการท่องเที่ยว
ในห้วงเวลานี้ รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเติบโตในยามเศรษฐกิจโลกเป็นขาลงนับแต่ปลายปี 2560
จึงต้องจับตาตั้งแต่กลางปี 63 เป็นต้นไป ที่แนวโน้มจะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบจากภาคเอกชนที่เริ่มปิดกิจการนับแต่กลางปีนี้เป็นต้นมาอย่างเต็มที่
ความขัดแย้งที่เป็นพื้นฐานทางการเมือง กับความค่นแค้นของประชากรระดับล่างจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ความไม่พอใจเรื่องการเมือง ที่ปรากฏแล้วจาก Flash Mob บรรจบกับ ความไม่พอใจเรื่องเศรษฐกิจมาผสมโรงลงตัวพอดี
กลางปีหน้า อาจจะช้าไปสำหรับสถานการณ์สุกงอม