เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่การปั๊ม GDP แต่จะมุ่งเน้นเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสังคมให้มีความสุข ความยั่งยืนมากขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างแท้จริง จึงเกิดแนวทาง “ประชารัฐ” ขึ้นมา และไม่ต้องกลัวว่าการดึงบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมจะเป็นการนำปลาใหญ่มาฮุบปลาเล็ก แต่จะเป็นการดึงคนรวยมาช่วยคนจนมากกว่า” ข้างต้นเป็นคำกล่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2559 ในวันการทำ MOU ระหว่าง 33 องค์กรรัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งมีกลุ่มทุน ปตท. เทสโก้ ซีพีออลล์ เอสซีจี สมาคมเอสเอ็มอี โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นแกนนำ วางเป้าหมายไว้ 1,500 ตำบลในปี 2559 และเพิ่มเป็น 2,500 ตำบลในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2559 ถึงต้นเดือนมีนาคม 2560 มีโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่ลงไปหมู่บ้านไม่ทราบว่าลงไปแบบไหน มีการบูรณาการกับโครงการเศรษฐกิจฐานรากอย่างไร เพราะอ้างว่า “เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง” ซึ่งถ้าไม่มีการบูรณาการจริงตั้งแต่ต้นทาง แล้วจะเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งได้อย่างไร เพราะเมื่อวันเซ็น MOU นั้น ข่าวบอกว่า “ในพิธีดังกล่าวนอกจากจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานในพิธีแล้ว ยังมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาครัฐ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ในฐานะหัวหน้าทีมฯ ภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามด้วย” และวันที่ 8 มีนาคม 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นประธานเปิดกองทุนหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายใต้งบประมาณกองทุนหมู่บ้าน 15,000 ล้านบาท เลือกชุมชนหมู่บ้านนำร่อง 1,500 แห่ง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตลาดชุมชน ร้านค้าชุมชน ยุ้งฉาง ฯลฯ อยากถามรัฐบาลว่า ๑) มีการประชาสัมพันธ์โครงการเหล่านี้ให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงแบบต่อเนื่องได้อย่างไร ทุก 3 เดือน 6 เดือน มีการรายงานหรือไม่ว่า โครงการนี้ไปถึงไหน อย่างไร ๒) มีการประเมินโครงการเหล่านี้ทุก 3 เดือน 6 เดือนหรือไม่ ว่าทำไปได้ตามเป้าหมาย มีปัญหาอุปสรรคอะไร เป็นการประเมินโดยคณะบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ทำกันเอง แล้วก็บอกว่าสำเร็จตามเป้าหมายทุกที สังคมมีสิทธิรับรู้และติดตามเพราะเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน ๓) ชุมชนเองมี “แผนแม่บทชุมชน” เพื่อรองรับโครงการเหล่านี้หรือไม่อย่างไร ถ้าไม่มีก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดเศรษฐกิจฐานรากจาก “ข้างใน” หรือจาก “ข้างล่าง” ได้ ที่เกิดก็มาจากงบประมาณ มาจากการวางแผนของ “ข้างบน” (top down) เช่นเคย ชุมชนก็เห็นด้วยเพราะต้องการงบประมาณ คำอ้างในต้นบทความนี้เป็นหลักการหลักคิดที่ดูดี แต่ประเด็นอยู่ที่รายละเอียดว่า แผนงาน โครงการสัมพันธ์กับแนวคิดนี้มากน้อยเพียงใด และทำได้จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่อาจารย์ธีรยุทธ บุญมีวิจารณ์ หรือคุณหมอประเวศ วะสีให้ข้อสังเกตนั้น ไม่ใช่ท่านบอกว่ารัฐบาลไม่มีหลักคิดหรือไม่มีแผน หรือไม่มีประเด็นปฏิรูป แต่ถามว่าทำให้เกิดการปฏิรูปได้จริงหรือไม่ และไม่ควรไปเรียกร้องให้ท่านเสนอแผนปฏิบัติเหมือนที่นักการเมืองชอบพูดสมัยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ (และท้าให้ลงเลือกตั้ง) การบอกว่า เอาคนรวยมาช่วยคนจน ทุกวันนี้คนจนได้เพียง “เศษเนื้อข้างเขียง” จากงบประมาณเล็กน้อยที่รัฐให้ลงไป ทำไมจึงไม่ให้โอกาสคนจนสามารถต้มเหล้าขายเองได้ ด้วยการปฏิรูปกฏหมายที่เปิดช่องว่างให้มีการผูกขาด และปิดโอกาสคนเล็กๆ คนจนให้ทำการประกอบการด้วยภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย (ซึ่งศาสตราจารย์ญี่ปุ่นวิจัยว่า เหล้าสาเกของญี่ปุ่นมาจากสาโทของไทย เหล้าอาวาโมริก็มาจากเหล้าขาวของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา) แล้วทำไมวันนี้คนไทยต้องกินเหล้าไม่กี่ชนิด เบียร์ไม่กี่ยี่ห้อ อยากกินอร่อยต้องข้ามโขงไปกิน ก็ไหนบอกว่าส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจวัฒนธรรม ? ร้านค้าหมู่บ้านที่เปิดที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหรือบ้านผู้นำด้วยงบประมาณแผ่นดินนั้น เอาของจากห้างใหญ่ๆ มาขายก็ไม่ว่ากัน แต่ถามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเศรษฐกิจพอเพียงว่า พึ่งตนเองไม่ต้องทั้งหมด สักเศษหนึงส่วนสี่ก็พอ ถามว่า มีการทำแผนแม่บทชุมชน มีการวางเป้าหมายให้ร้านค้าชุมชนขายผลผลิตของชุมชนเองสักร้อยละ 25 ได้หรือไม่ ไม่ใช่ไปเอาจากห้างอย่างเดียว คนวิจารณ์การปฏิรูปมองเห็น “การปะผุ” ไม่ใช่การปฏิรูป เพราะไม่รื้อระบบโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องหลักการ ท่านพุทธทาสสอนว่า ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย พูดบูรณาการแต่ทำแยกส่วน ทำแต่โครงการ เอาแต่วิธีทำ ไม่เอาวิธีคิดให้ลงลึกถึงรากฐาน เศรษฐกิจฐานรากไม่เกิดในรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน