“รัฏฐาธิปัตย์” ปัจจุบันมีการใช้คำนี้ในสังคมการเมืองของไทยอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากความหมายที่กล่าวถึงตัวบุคคล หรือคณะบุคคลแล้ว ยังมีความหมายในเชิงนามธรรมด้วย ตามความหมายในระบบการเมืองการปกครองของไทย คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดตามประเพณีการปกครองในแต่ยุคแต่ละสมัย รวมถึงยุคสมัยปัจจุบันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำว่า "รัฏฐาธิปัตย์" เป็นคำที่รู้จักมากที่สุดในยุคที่การเมืองเกิดการยึดอำนาจ โดยคณะยึดอำนาจ จะสถาปนาตัวเองเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" เพื่อแต่งตั้งผู้บริหารราชการแผ่นดิน และ "รัฏฐาธิปัตย์" ยังถูกแปลความหมายได้อีกนัยยะหนึ่ง นั่นคือ อำนาจอธิปไตย ที่เป็นอำนาจปกครองสูงสุดของรัฐ ขณะเดียวกันความหมายเชิงนามธรรม "รัฏฐาธิปัตย์" ยังหมายถึง รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งผู้ใดไม่อาจจะละเมิดได้ และกฎหมายอื่นไม่อาจจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ สรุปคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ได้ว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน จากฐานะที่เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์นั้นต้องมีลักษณะสมบูรณ์ (absolute) มีอำนาจนั้นอยู่ในตนเอง รัฏฐาธิปัตย์จะทำการสิ่งใดไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมหรืออาศัยอ้างอิงว่าได้รับมอบอำนาจมาจากผู้ใดอีก ความสัมบูรณ์ของอำนาจนี้ส่งผลให้รัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งใดๆเพื่อบังคับใช้แก่ไพร่ฟ้าในอาณาจักรของตนในโอกาสใดและเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ย่อมได้เป็นธรรมดา และโดยการที่รัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงที่สุดและสมบูรณ์นี้เองหากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเช่นว่าของรัฏฐาธิปัตย์แล้วต้องได้รับการลงโทษ เพราะอำนาจในการลงโทษก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอันสูงสุดและสมบูรณ์ของรัฏฐาธิปัตย์เช่นเดียวกัน ส่งผลให้คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดย่อมมีผลเป็น “กฎหมาย” แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (จากบทความ “รัฏฐาธิปัตย์” ของสถาบันพระปกเกล้า , ซันวา สุดตา เรียบเรียง) หน้าที่ของพลเมืองโดยสรุปแล้วจึงไม่มีอะไรมาก นั่นคือปฏิบัติตามคำสั่งของรัฎฐาธิปัตย์ นี่กล่าวในทางนามธรรม แต่หากกล่าวในทางรูปธรรมกันแล้ว ใน “ความไม่มีอะไรมาก” นี้ มีอะไรที่ยุ่งยากเหมือนกัน หลายพันปีของการมี “รัฐ” เกิดขึ้น ก็มีบุคคลที่ละเมิดคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์อยู่ตลอด กลุ่มแรกที่มีจำนวนมาก คืออาชญากรทั้งทางอาญาทางแพ่ง พวกนี้ผิดทั้งจริยธรรมสากลและผิดกกหมายของรัฐ การจัดการลงโทษจึงชัดเจน กลุ่มเล็กที่ต่อต้านรัฏฐาธิปัตย์ด้วยความรุนแรง ตั้งใจโค่นล้มกัน ก็ต้องยอมรับกับผลที่ตามมา เช่น “ข้อหากบฏ” หรือข้อหาอื่น ๆ ที่มีบทลงโทษหนัก แต่โดยมากแล้วกลุ่มชนที่แม้จะมีแนวคิด มีอุดมการทางการเมือง อุดมการทางเศรษฐกิจไม่ตรงกับกลุ่มผู้กุมรัฏฐาธิปัตย์ จะต่อสู้กันทางแนวความคิด โดยเคารพกฏหมายบ้านเมือง ในทางรูปธรรมรัฏฐาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ ใช้ประโยชน์ (จากทางแนวความคิด วิสัยทัศน์) อย่าผลักดันสร้างให้กลายเป็นศัตรูผู้ต่อต้านตน สังคมทั่วโลกเป็นอย่างนี้ ถ้ารัฏฐาธิปัตย์รู้หน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ดี พลเมืองรู้จักหน้าที่และปกิบัติหน้าที่ของตนได้ดี สังคมก็จะสงบสุข