ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำของ ASEAN พร้อมๆกับการประชุม RCEP ผ่านพ้นไปแล้ว แม้ว่าอินเดียจะยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วม คงรวมเป็น 15 ประเทศที่จะเข้าร่วมและลงนามสัญญากับที่เวียดนามไปแล้วก็ตาม นับเป็นความสำเร็จของการประชุมที่ไทยเป็นประธานในปีนี้ การร่วมค้ากับ RCEP จะส่งผลดีให้กับประเทศในอาเซียน การค้าจะพุ่งทะยานได้ หากประเทศไทยสามารถพัฒนากำลังคนไว้รองรับกับเทคโนโลยีที่มีคน 3,000 ล้านคน และการค้าที่มี GDP 40% สูงเป็นอันดับสองของโลก ในขณะที่ประเทศไทยปรับเปลี่ยนการพัฒนาคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเอามหาวิทยาลัยทั้งหมดเข้าไปอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกระทรวง อ.ว. ซึ่งรัฐมนตรีได้เชิญนายกสภามหาวิทยาลัยมาพูดคุยกันมากกว่า 70 แห่งแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทกระทรวง อ.ว. และ บทบาทของมหาวิทยาลัยที่ควรต้องปรับปรุงอยู่ 3 เรื่อง 1.ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ที่มีปัญหาฟ้องร้องกันมากมาย ส่งผลให้การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวัง ซึ่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารจัดการงานภายในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ต้องเน้นธรรมาภิบาลภายในเพิ่มขึ้น 2.คุณภาพ หลายมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ก็มีความจำเป็นที่จะปิดตัวลง ซึ่งมหาวิทยาลัยคงต้องยกระดับให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการประเทศให้ได้ เพราะรัฐสนับสนุนงบประมาณจะสูญเปล่า เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับบางมหาวิทยาลัยที่พยายามตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ 3. หลักสูตรการเรียนการสอน ต้องดูว่าตอบโจทย์ความต้องการในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ซึ่งได้รับข้อเสนอแนะทั้งระบบงานวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรม โดยกระทรวง อ.ว. จึงรับไว้ปรับแก้ให้เกิดความอิสระในเชิงวิชาการอย่างแท้จริง หากจะดูตัวอย่างโครงการสำคัญของปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมีประเด็นยุทธศาสตร์ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสูง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.การวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ 3.การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากด้วย 4.การพัฒนาการจัดการศึกษาให้ทันสมัย มีคุณภาพ และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ทั้ง 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ยังมีโครงการเป็นเป้าหมายอีกมาก เช่น ยุทธศาสตร์การวิจัย จะต้องเป็นงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของ EEC โครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพในภูมิภาคของประทศไทย เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างโอกาสการแข่งขัน โดยการให้ทุนเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการ start up โครงการพัฒนา SMEs การจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการผลิตบัณฑิตพันธ์ใหม่ โดยร่วมกับสถานประกอบการ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการเรียนการสอนในระบบเปิด (MOOC) ยุทธศาสตร์ที่ 3 โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก โดยให้มหาวิทยาลัยลงไปช่วยชุมชนให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นต้น มหาวิทยาลัยของรัฐที่ อ.ว.แบ่งเป็น 3 ระดับ คงต้องดูภารกิจของตัวเองว่าสอดคล้องความต้องการของ อ.ว. ได้หรือไม่ เพื่อยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพให้สามารถขับเคลื่อนได้ และทั้งหมดก็คือการบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพ ด้วยระบบที่เปิดกว้างให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาส หากมหาวิทยาลัยไม่ขับเคลื่อน อนาคตอาจมืดมนถึงขั้นรัฐบาลไม่สนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นให้ก็ได้