ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] GSP หรือ Generalized System Preference คือ สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประทศที่ให้สิทธินั้น สหรัฐอเมริกาให้สิทธิ GSP แก่ไทยมาตั้งแต่ปี 2513 รวม 3,400 รายการ มูลค่า 4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนมากเป็นอาหารทะเล ผักผลไม้ อุปกรณ์ทำครัว เฟอร์นิเจอร์ไม้อัด เครื่องประดับ ภาชนะเซราทิก เป็นต้น แต่วันนี้สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิ GSP ของไทยลงจำนวน 573 รายการ มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หากไทยยังส่งสินค้าไปขายสหรัฐ หลังจาก 25 เมษายน 2563 จะต้องเพิ่มราคาขายบวกด้วยภาษีนำเข้าอีก 4-4.5% หรือประมาณพันกว่าล้านบาท ทำให้สินค้าไทยต้องเข้าสู่เวทีการแข่งขันกับบางประเทศ อาจเป็นผลทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องลดลงเป็นบางรายการ ความจริง GSP สหรัฐให้สิทธิกับหลายประเทศในอาเซียน ไมว่าจะเป็นลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนม่า อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาเช่ยเดียวกับไทย เท่ากับว่าไทยต้องแข่งราคากับประเทศเหล่านั้นเอง ไทยได้สิทธิ GSP มานานมากกว่า 50 ปี แม้ว่าจะปรับปรุงระบบสินค้าทางทะเลและอื่นๆให้เข้าข่ายไม่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถปรับคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตให้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใด อาจคิดว่าเขาคงให้สิทธิพิเศษแก่เราต่อไป ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยใกล้จะมีรายได้ประชากรต่อหัวเป็นไปตามมาตรฐานโลกที่ระบุว่าประเทศใดที่มีรายได้ประชากรต่อหัวประมาณ 13,000 ดอลล่าร์ต่อปี ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว GSP จะหมดไปโดยปริยาย จึงเป็นที่น่าเสียดายในระยะเวลา 50 ปี ไทยน่าจะสามารถพัฒนาสินค้าที่ได้ GSP เหล่านั้นให้เป็นมาตรฐาน แข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ แต่ก็ยังพัฒนาค่อยเป็นค่อยไป ทั้งๆที่ไทยมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าเขา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรก็ยังใช้สารเคมีกันมากอยู่ หลายกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า น่าจะเกิดจากการที่ไทยแบนสารพิษ 3 ตัวของสหรัฐ ทำให้เขาคิดที่จะยกเลิก GSP ของไทย เป็นการตอบแทน ซึ่งอาจจะใช่และไม่ใช่ก็ได้ แต่ที่แน่ๆไทยคงต้องเจรจาต่อไป แต่ถึงอย่างไรไทยต้องปรับคุณภาพและประสิทธิภาพสินค้าเหล่านั้นให้ได้คุณภาพและมาตรฐานในระยะต่อไป ประเด็นที่เขาให้ไทยแก้ไขภายใน6เดือน คือการให้แรงงานต่างชาติตั้งสหภาพแรงงานได้ เรียกร้องแล้วไม่มีความผิดและปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งคงทำไม่ได้แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองยังไม่มีกฎหมายเหล่านี้ การจะพึ่งส่งออกเฉพาะสหรัฐอเมริกาแต่เพียงประเทศเดียวคงมีโอกาสรอดยาก เราน่าจะเปิดตลาดอื่นเช่นใน Asian หรือ อาร์เซ็ปหรือยุโรป ที่มีตลาดใหญ่ไม่แพ้กัน น่าจะถึงเวลาที่ไทยพึงตระหนักถึงอนาคตประเทศไทยที่จะเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งรายได้ประชากรจะเพิ่มขึ้น ควรยืนอยู่บนขาตนเองให้ได้ กระทรวงพาณิชย์น่าจะตั้งมาตรการสนับสนุนคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตของสินค้าเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเราประกาศก้องไปทั่วโลก เราจะก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ผมเชื่อว่าประเทศไทยไม่ถึงกับต้องยกเลิกผลิตสินค้าเหล่านั้น เพราะหน่วยราชการเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาประสิทธิภาพเชิงรุกและค้นหาตลาดใหม่ ยังมีโอกาสสูงอยู่ครับ