ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ข่าวการแยกกระทรวงอุดมศึกษา ชักจะแผ่วจางลงเพราะข่าวสถาบันอุดมศึกษากำลังถูกเสนอให้ใช้ ม.44 กับ 9 สถาบันทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีปัญหาด้านธรรมาภิบาล
เป็นที่น่าแปลกใจมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมามีหลายมหาวิทยาลัยมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล จนไม่สามารถที่จะเยียวยาด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบปกติได้ ต้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 มาบริหารจัดการ
กันอยู่ในขณะนี้ ที่แปลกใจเพราะสถาบันอุดมศึกษาอุดมไปด้วยสังคมอุดมปัญญาเป็นสถาบันที่จะพัฒนากำลังคนให้กับประเทศที่ต้องเพียบพร้อมไปด้วยความรู้คู่คุณธรรม คือ ผลิตทุนมนุษย์ที่เก่งและดี
หากสถาบันการศึกษายังขาดธรรมาภิบาลและเป็นตัวอย่างขององค์กรที่เป็นปัญหาเสียแล้ว จะพัฒนาลูกหลานไทยให้เป็นทุนมนุษย์ได้ดีเพียงใด
“ธรรมาภิบาล” มีความหมายหลายประเด็น แต่เกิดจาก “ระบบ” และ “คน” ในองค์กรทั้งสิ้น และคงหนีไม่พ้นการช่วงชิงอำนาจการเป็นผู้บริหารที่มีการสรรหาตั้งแต่กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีวาระ แทนที่จะเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับกันแต่กลับแบ่งกลุ่มแบ่งพวก หลายกลุ่ม หลายพวก จ้องที่จะเลื่อยขาเก้าอี้หากเป็นคนละพวก ดังเช่นการฟ้องร้องในศาลปกครองเต็มไปหมดธรรมาภิบาลที่น่าสะพรึงกลัวยิ่ง คือหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานการเรียนการสอนขาดคุณภาพ ไม่ทราบว่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงการเปิดศูนย์ การเปิดวิทยาเขต เพื่อแย่งชิงนักศึกษานอกพื้นที่ เป็นธุรกิจการศึกษาที่ปล่อยให้เปิดสถาบันอุดมศึกษากันไม่มีขอบเขต เป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ ปล่อยให้มีปัญหาก่อนจึงมาแก้ไขแบบ“วัวหายแล้วล้อมคอก”
ประเด็นที่ต้องจับตามองของความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของผู้บริหาร ที่มีข่าวเนืองๆ คือการปฏิบัติโดยขาดระเบียบราชการรองรับ และการแฝงไว้ด้วยความทุจริตเชิงนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้าง
ที่มีราคาสูงกว่าคุณภาพและมาตรฐาน โดยใช้นายหน้ามากว้านโครงการต่างๆ รับส่วนต่างหรือเงินทอนอย่างเงียบๆ ก็มีให้เห็น
สตง. แม้จะมีการตรวจสอบทุกปีก็ตาม แต่คงเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาคงไม่เข้มกับการตรวจสอบ เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐบางหน่วยที่มีโอกาสในการใช้งบประมาณมากๆ จึงหลุดลอดสายตาบางเรื่องไป หากไม่มีคนภายในร้องเรียนหรือเอกชนร้องเรียนถึงความไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็คงจะไม่ค่อยได้อะไรสักเท่าใด หากเน้นตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างให้ดีในเรื่องของราคา และผู้ขายที่มีรายเดียวเกือบทั้งหมด น่าจะเป็นข้อสังเกตที่ควรเข้มข้นกับการตรวจสอบเป็นพิเศษมากขึ้น
การแยกงานอุดมศึกษาออกเป็นกระทรวงอุดมศึกษา เพื่อให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว คงต้องมีหลักการที่จะพัฒนาทั้งมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษา และขจัดความไม่โปร่งใสของ
การบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นระบบที่เกิดธรรมาภิบาลทีดีได้เพียงใด น่าจะเป็นอีกบริบทหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาไทยที่ให้สังคมยอมรับ ไม่เพียงแต่ปรับโครงสร้างเท่านั้น