นักวิชาการวัฒนธรรมส่วนใหญ่ คิดว่า “วัฒนธรรม” คือเเรื่องที่เป็นความดีงาม ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรม เมื่อมองการแก้ไขปัญหาทางสังคม จึงเสนอแต่หนทางแก้ไขด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ การปกครอง ฯ ละเลยการแก้ไขทางวัฒนธรรม ถ้าหากเปิดใจกว้าง ยอมรับด้านอ่อนของคนไทย (ส่วนใหญ่) ก็จะเห็นว่าเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาหลายร้อยปีแล้ว ปัจจุบันนี้สังคมไทยเกิดปัญหาด้านศีลธรรมมากขึ้น ปราชญ์ผู้ที่เปรียบเทียบเรื่องศีลธรรมกับวัฒนธรรมได้ดีคือ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเห็นว่า “วัฒนธรรมกับศีลธรรมแตกต่างกัน คือคนที่มีวัฒนธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรมเลยก็ได้ และบั้นปลายหรือจุดประสงค์ก็ต้องเป็นคนละอันกัน เพราะขอองที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันจะต้องมีความเจริญหรือเสื่อมพร้อม ๆ กัน ขึ้นก็ขึ้นด้วยกัน ลงก็ลงด้วยกัน แต่ในสายตาของผมเห็นว่า วัฒนธรรมละศีลธรรมไม่เป็นไปด้วยกันอย่างนี้ แต่กลับปรากฏว่าในยุคใดที่วัฒนธรรมรุ่งเรืองมาก ๆ ศีลธรรมก็ชักจะตกต่ำลงไป” ( ตอบปัญหาประจำวัน วันที่ 12 มีนาคม 2498 ) ทุกวันนี้ เมื่อพูดกันถึงปัญหาของชาติบ้านเมือง ผู้คนมักนึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมืองก่อน แต่เมื่อวิเคราะห์กันลึก ๆ แล้วจะพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองมีรากเหง้าต้นตอเริ่มจากเรื่อง “วัฒนธรรม” การเมืองไทยเป็นอย่างนี้ ก็เพราะคนไทยมีวัฒนธรรมเป็นอย่างนี้ วิถีชีวิต รูปแบบการทำมาหากิน ฯ คือพื้นฐานในการก่อตัวของวัฒนธรรม สมัยก่อนคนไทยทำนาทำไร่พึ่งตนเอง ก่อขึ้นเป็นวัฒนธรรมสังคมเกษตรกรรมเลี้ยงตัวเอง ปัจจุบันรูปแบบการทำมาหากินของทุกคนถูกกำหนดโดยระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม วัฒนธรรมของสังคมไทยจึงกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง การเปลี่ยนแปลงจุดนี้ คือต้นตอของปัญหาเกือบทุกด้านในสังคมไทย รวมไปถึงปัญหาทางการเมืองด้วย ย้อนดูการแข่งขัน การต่อสู้กันของมนุษย์เผ่า ต่าง ๆ เผ่าที่มีอำนาจมาก ครองอำนาจได้นาน มักจะคือ “ผู้ที่เอาชนะด้วยวัฒนธรรม” เผ่า “ผู้พิชิต” ที่แท้จริงคือเผ่าที่ “ชนะทางวัฒนธรรม” กลายเป็นผู้กำหนดวัฒนธรรมมนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้น แล้วเมื่อวัฒนธรรมเติบโตหยั่งลึก ก็จะความเป็นมนุษย์รุ่นต่อ ๆ มา มนุษย์รุ่นใหม่ต่อ ๆ มา ก็สร้างวัฒนธรรมใหม่อีก แล้วเกิดมนุษย์รุ่นใหม่อีก โลกผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้มายาวนาน และก้กำลังเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราพึงอยู่อย่างผู้รู้เท่าทัน แล้วตั้งใจลดทอนวัฒนธรรมจุดที่ไม่ดีงาม จุดที่ทำลายมนุษย์กันเอง ฯลฯ ตั้งใจสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ดีงาม คนที่เข้าใจเรื่องนี้ มีจิตสำนึกเรื่องนี้ ยังมีจำนวนน้อย สังคมโลกจึงยังเต็มไปด้วยปัญหาเราต้องช่วยกันเพิ่มจำนวนคนที่เข้าใจเรื่องนี้ มีจิตสำนึกเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อมนุษยชิรุ่นต่อ ๆ ไป