เสือตัวที่ 6
กระบวนการสร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับคนปลายด้ามขวาน ยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐ และกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกจากรัฐให้เกิดขึ้นในความคิดของผู้คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีนักวิชาการฝ่ายทหารกลุ่มหนึ่ง ที่ได้ใช้กระบวนการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการ โดยศึกษาข้อมูลเชิงลึกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานวิจัยที่หลากหลายแง่มุม จึงสามารถเป็นข้อค้นพบที่เชื่อมโยง ร้อยเรียงให้เห็นภาพของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชัดเจนและสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น โดยในแง่มุมของแนวทางการในการเข้าถึงสถานศึกษาที่ล่อแหลมและมีแนวโน้มในการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบ ของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่นั้น พบว่าหน่วยงานภาครัฐ สามารถดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ตามหลักวิชาการที่เชื่อถือได้ อาทิ
1. สร้างกิจกรรมที่เกื้อกูลในสถานศึกษา การสร้างกิจกรรม (Event) พัฒนาสัมพันธ์ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โลกในแง่มุมใหม่ ที่เป็นกิจกรรมเพื่อการประกวด การออกแบบคำกลอน งานศิลปะต่างๆ ชิงรางวัลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาฟุตบอล หรือกีฬาประเภท อื่นๆ ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ การร่วมกันพัฒนาพื้นที่ในสถานศึกษาทั้งด้านอาคารสถานที่ศึกษา สภาพแวดล้อมของสถานศึกษา รวมทั้งหอพักของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ตลอดจนการสร้างมลภาวะที่ดีทั้งความสะอาด การกำจัดยุงและแมลงในสถานศึกษาและหอพักนักเรียนที่อยู่ประจำ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในสถานศึกษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีโอกาสในการสร้างทัศนะที่ดีของเด็กและเยาวชน ตลอดจนครู-อาจารย์ของสถานศึกษา ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น
2. นำพาเปิดโลกทัศน์ หน่วยงานของรัฐต้องสร้างโอกาสให้เด็กและเยาชน ตลอดจนครู-อาจารย์ ในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้เดินทางไปทัศนะศึกษานอกพื้นที่ ทั้งสถานที่ที่เป็นโลกทันสมัย เป็นเรื่องราวที่เป็นสากล และสถานที่ที่เป็นแนววิถีชีวิตเช่นเดียวกับคนในพื้นที่ในรูปแบบที่นิยมความเป็นอิสลามสายสันติ มีความเป็นหนึ่งเดียวอย่างผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อย่างเป็นพหุวัฒนธรรม พัฒนาการศึกษาทางไกลผ่านโลกออนไลน์ นำพาเด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ได้ตลอดเวลา เห็นโลกกว้างที่ไม่อาจปิดกั้นตนเองให้ล้าหลังอยู่ต่อไป
3. พัฒนาทางกายภาพและความคิด การพัฒนาทางกายภาพโดยการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรทั้งภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ เพื่อนำมาพัฒนาสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ เน้นการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ โดยร่วมกันสร้างห้องเสมือนจริง ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ห้องศึกษาภาษาต่างประเทศ ร่วมกับการพัฒนาการศึกษาทางโลกทันสมัยออนไลน์ ให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนครู-อาจารย์ของสถาบันการศึกษา ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโลกภายนอกในแง่มุมอื่นมากขึ้น ตลอดจนการสร้างคนที่สามารถสื่อสารกับเด็กและเยาชนรวมทั้งบุคลากรในสถานศึกษาในแต่ละแห่งได้ ทั้งที่เป็นคนแนวคิดใหม่สอดรับกับความเป็นรัฐ และบุคคลต้นแบบ (Idols) ที่จะสามารถร่วมกันพัฒนาความคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับบุคคลในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี
4. ผลิตตัวแทน (Agents) ด้วยสภาพแวดล้อมในพื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในความเป็นตัวของตัวเองสูง ยากที่คนอื่นที่มีความแตกต่างทั้งทางกายภาพและความคิดเห็น จะเข้าไปพัฒนาสัมพันธ์ สร้างความคิดความเห็นเป็นอย่างอื่นได้โดยง่าย จึงต้องมีแนวทางในการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเป้าหมายให้การเปิดใจ ยอมรับฟังความคิดความเห็นบ้างไม่มากก็น้อย ด้วยการสร้างให้เกิดบุคคลที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐ (Agents) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนรัฐ เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโลกทัศน์แทนคนของรัฐ โดยต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ
5. สร้างสภาวะแวดล้อมใหม่(ระดับนโยบาย) หน่วยงานภาครัฐ จะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในระดับนโยบายที่มีความชัดเจน เพื่อกำกับทิศทางแนวทางของสถานศึกษาในพื้นที่ให้สอดรับกับงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการเข้าไปจัดระบบองค์กรที่กำกับการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัด (สช.จังหวัด) ให้เป็นเครื่องมือของรัฐในระดับนโยบายที่มีความเข้มแข็ง สามารถกำหนด กำกับทิศทางการบริหารการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการกำหนดมาตรการในการให้รางวัลแก่สถานศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ตามที่ สช.จังหวัดกำหนด ควบคู่กับมาตรการลงโทษสถานศึกษาที่ไม่ดำเนินการหรือขัดแย้งกับแนวนโยบายของ สช.จังหวัด อย่างชัดเจน จริงจังและมีมาตรฐานเดียวกัน
6. สร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน สถานศึกษาที่จะเข้มแข็งและเป็นไปตามแนวทางของรัฐนั้น จำเป็นที่จะต้องยึดโยงกับหมู่บ้าน ชุมชนรอบสถานศึกษา โดยรัฐจะต้องสร้างระบบให้ชุมชนรอบสถานศึกษา มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชนนั้น ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชนนั้น ต้องเชื่อมโยงกับคนในชุมชนอย่างชัดเจนในมิติต่างๆ เป็นการสร้างโอกาสในการสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ซึ่งกันและกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐเพิ่มมากขึ้น ด้วยเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาแต่ละแห่งนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นบุตรหลานของคนในชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะการยึดโยงกับชุมชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษาศาสนาทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการแล้ว ที่เกิดขึ้นในหอพักนักเรียนของสถานศึกษา
ทั้งนี้ กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาฯ มีเป้าหมายสำคัญคือ การหล่อหลอมเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีความคิดความเชื่อในแนวทางเดียวกันกับขบวนการฯ ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นช่องว่างของหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่อาจเกาะติดคนรุนใหม่เหล่านี้ที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมในแฟ้มประวัติของทางการรัฐไทยแต่อย่างใด ช่วยทำให้การก่อเหตุร้ายต่างๆ กระทำได้ง่ายขึ้น หลังการก่อเหตุร้ายแล้ว กลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีประวัติขาวสะอาด จึงสามารถช่วยปกปิดร่องรอยการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไทยได้อย่างทรงพลัง ตราบนานเท่านาน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ จะสามารถปกปิดการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกจากรัฐได้เพียงใด และสามารถป้องกันการเข้าถึงสถานศึกษาที่เป็นแหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เหล่านั้นได้ดีเพียงใด หากแต่ก็ยังมีแนวทางการเข้าถึงสถานศึกษาที่ล่อแหลมเหล่านั้นที่หน่วยงานภาครัฐ จะต้องเร่งศึกษาและตระหนักถึงการนำข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือ มาใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสถานศึกษาที่ล่อแหลมเหล่านั้นได้อย่างแท้จริงโดยเร็ว