รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“อึดอัด” คำติดปากที่ “นักการเมือง” ทั้งฝ่ายรัฐบาล...ฝ่ายค้าน ซึ่งมันจะพูดระบายความรู้สึกต่อสถานการณ์ทางการเมือง ณ วันนี้ ซึ่งคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า แม้จะ “อึดอัด” อย่างไร? แต่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างจำเป็นต้องทนอยู่ให้จงได้..!!
จากการแปลความหมายคำว่า “อึดอัด” ตามพจนานุกรมนั้น มีความหมายว่า คับอกคับใจ ไม่คล่อง ไม่ปลอดโปร่ง ซึ่งหากพิจารณาตามหลักตรรกะ พบว่าความรู้สึกอึดอัดนั้น เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกสถานะทางสังคม ที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ที่คับแคบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีกลิ่นอับ กลิ่นเหม็น ทำให้หายใจไม่สะดวก ซึ่งความรู้สึกอึดอัดในลักษณะดังกล่าวนั้น อาจเรียกได้ว่าเกิดจาก “การคับที่”
นอกจากจะต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ที่คับแคบแล้ว การเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก กดดัน ถูกบีบบังคับ ไม่ได้รับอิสระ กดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นอีกหนึ่งภาวะที่ทำให้รู้สึกอึดอัดได้เช่นกัน แม้ว่าสถานที่แหล่งนั้นจะใหญ่โต โออ่า หรูหรา เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ซึ่งความรู้สึกอึดอัดในลักษณะดังกล่าวนั้น อาจเรียกได้ว่าเกิดจาก “การคับใจ”
อย่างไรก็ตามความอึดอัดจาก “การคับที่” นั้น เป็นความอึดอัดที่พอหาทางแก้ไขได้ไม่ยาก เพียงแค่พยายามหลีกเลี่ยง ไม่ไปอยู่ในสถานที่ในลักษณะดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถแก้ไขความรู้สึกดังกล่าวได้ แต่ความอึดอัดที่เกิดจาก “การคับใจ” นั้น เป็นความอึดอัดที่หาทางแก้ไขได้ยากกว่า เพราะความอึดอัดในลักษณะดังกล่าว จะฝังอยู่ในใจ ในความรู้สึก และทำให้เกิดความคับอกคับใจมากกว่า “การคับที่” ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก”
ทั่วไปแล้วคนในสังคมส่วนใหญ่มักจะต้องเผชิญกับทั้งภาวะ “คับที่และคับใจ” จนทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด แต่สำหรับความอึดอัดทางการเมืองนั้น ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเป็นความอึดอัดอันเกิดจาก “การคับใจ” โดยเฉพาะสถานการณ์ของ “รัฐบาลประยุทธ์” ซึ่งเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ โดยมีถึง 20 พรรค ณ วันนี้ ที่ต้องเผชิญกับความอึดอัดภายในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ภาพลักษณ์รัฐบาลติดลบ ถูกมองสืบทอดอำนาจขาดความชอบธรรม
การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพรุนแรง ล่มได้ทุกเวลา แม้จะมีเสียงเบ็ดเสร็จในรัฐสภาถึง 500 เสียง แต่หากไปดูเสียงในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเวทีหลักที่รัฐบาลต้องใช้เป็นเครื่องมือในการออกกฎหมายมา และงบประมาณประจำปี รวมถึงจะต้องมีเสียงไว้ป้องกันการตรวจสอบจากฝ่ายค้านแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่ารัฐบาลประยุทธ์ทำหน้าที่ได้ไม่ง่ายทีเดียว
รัฐบาลผสม 20 พรรค 254 เสียง ทำให้เกิดการต่อรองกันตลอดเวลา หากไม่ลงตัวโอกาสเกิดการแทงข้างหลัง ปล่อยข่าวถล่มสกัดกันในแต่ละโครงการ โครงงาน ทั้งเรื่องของผลประโยชน์แบ่งกันไม่ลงตัว และปมแย่งกันสร้างคะแนนนิยมในแต่ละพรรคเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดศึกภายในรัฐบาลได้ตลอดเวลา
เก้าอี้ “ประธานสภา-รมว.กระทรวงสำคัญ”อยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้”บิ๊กตู่ “และพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถสั่งการเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเมืองได้รวมถึงจะผลักดันนโยบายสำคัญของ พปชร.ได้ยากเพราะทุกพรรคมุ่งสร้างทำนโยบายของตัวเองมากกว่า จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง กันได้ตลอดเวลา
หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐเอง ก็ขาดเอกภาพ มีหลายก๊กหลายมุ้งการเมือง ไม่มีใครมีอำนาจที่แท้จริง ทำให้เกิดการต่อรองกันทั้งเรื่องของเก้าอี้รัฐมนตรี และตำแหน่งต่างๆทั้งในรัฐบาลและในสภา ซึ่งล้วนแต่สร้างรอยร้าวภายในพรรค
ความอึดอัดจากกรณีต่างๆ ภายในรัฐบาล เป็นสิ่งที่สร้างความคับอกคับใจให้แก่รัฐบาลประยุทธ์ ไม่น้อย และเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับรัฐบาลประยุทธ์มาตั้งแต่วันแรกที่มีการจัดตั้งรัฐบาลก็ว่าได้นั้น แต่จะทำอย่างไร? ให้ความอึดอัดทางการเมืองลดลง เรื่องนี้คงตอบได้ไม่ยาก (แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทำยาก...!!)
คำตอบของการลดความอึดอัด คงหนีไม่พ้นการพรรครัฐบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยมีเป้าหมาย คือ ทำหน้าที่ เพื่อประเทศชาติ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน แล้วเมื่อทุกพรรคมีเป้าหมายเดียวกัน ย่อมทำให้การกระทบกระทั่งกัน กลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม แต่ที่ทุกวันนี้การเมืองไทยเต็มไปด้วยความอึดอัดเป็น เพราะทุกฝ่ายมองเพียงแค่ผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องเพียงเท่านั้น (หรือไม่??)
“บรรยากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความน่าอึดอัด” การแก้ไขความอึดอัดที่นักการเมืองพอจะทำได้นั้น ก็มีทางเลือกอยู่หลายวิธี เช่น การย้ายพรรค แต่หากย้ายบ่อยๆ ก็อาจถูกมองว่าขายตัว การลาออกจากตำแหน่ง หรือการลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
แต่!! ความอึดอัดของ “ประชาชน” จากบรรยากาศการเมืองนั้น กลับไม่มี “ทางออก” เพราะการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่การลาออกจากการเป็น “คนไทย” เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้...
ดังนั้นเมื่อ “ประชาชน” อึดอัด ก็คงทำได้เพียงฝืนยอมรับกับความอึดอัดทางการเมืองนั้นต่อไป
ที่ว่า ท.ทหารอดทนนั้น คงต้องเปลี่ยน เพราะเดี๋ยวนี้ ป.ประชาชน ต้องอดทนกว่าเป็นไหนไหน แล้วยิ่งต้องอดทนกับความอึดอัดทางการเมืองที่ดูเหมือนจะไม่มีที่จุดสิ้นสุด??
ก็ยิ่งทำให้อด “สงสาร” ประชาชนไม่ได้จริงจริง..!!?