เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com รัฐบาลนี้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้เงินหมุน เศรษฐกิจโต จีดีพีสูงขึ้น พร้อมกับจัดเงินไปถึงรากหญ้าถึงชาวบ้านและชุมชนในหลายๆ วิธี เงินแสนเงินล้านลงไปไม่ขาดสาย น่าเสียดายว่า ชุมชนส่วนใหญ่ทำได้เหมือนๆ กัน ลอกกันไปลอกกันมา ไม่ว่าโครงการไหน กองทุนหมู่บ้าน ประชารัฐหรือประชานิยมหมู่บ้านประมาณ 80,000 แห่ง เกือบจะไม่มีที่ไหนที่มี “แผนแม่บทชุมชน” อย่างเต็มรูปแบบ อย่างที่มูลนิธิหมู่บ้านได้พัฒนาขึ้นมาด้วยงบประมาณของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อปี 2541 และนำไปขยายผลโดย SIP และสภาพัฒน์ฯ ผ่านกระทรวงต่างๆ ปูพรมไปทั่วแผนดิน แต่ตัดหัวตัดหาง ทำผิดเพี้ยนจนได้แค่การทำข้อมูลเพื่อเขียนโครงการไปของบประมาณเท่านั้น แผนแม่บทชุมชนเกิดจากการทำ “ประชาพิจัย” (PR&D People Research and Development) คือ การทำวิจัยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เพื่อทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ชุมชนร่วมกันพัฒนาขึ้นมาโดยกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจศักยภาพที่เป็น “ทุน” ที่แท้จริงของตนเอง และพบแนวทางในการพัฒนาทุนดังกล่าวไปสู่การพึ่งตนเอง นั่นคือการทำแผนยุทธศาสตร์ของชุมชน “หัวใจของการทำประชาพิจัย คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนหลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพา และรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก” ที่ผ่านมา คนภายนอกอย่างข้าราชการหรือนักพัฒนาทั้งหลายมักคิดแทนชาวบ้าน ทำแทนชาวบ้าน เพราะมีงบประมาณ จะให้ทำอะไรชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยอม และคุ้นเคยกับวิธีการแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร จึงมักมีแต่ “ประชาคม” คือ เรียกประชุมชาวบ้านว่า “เอาไม่เอา” งบหรือโครงการที่มีการเสนอมา ประชุมกันสักชั่วโมงก็ยกมือ หรือไม่ก็ระดมสมองในที่ประชุมว่าใครมีโครงการอะไรก็ให้เสนอ หรือว่าสื่อสารผ่านหอกระจายข่าว ผ่านสื่อ ผ่านการบอกต่อๆ กันว่า ใครมีอะไรดีๆ ให้เสนอไป ด้วยวีธีคิดวิธีทำแบบนี้เราจึงมีแต่การพัฒนาแบบกระรุ่งกระริ่ง เป็นชิ้นๆ แต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่โครงการที่ใช้เงิน เป็นโครงการที่เหมือนจิ๊กซอที่ต่อกันไม่ติด จึงไม่เกื้อกูลกัน ไม่สัมพันธ์กัน ไม่เป็นระบบ ไม่ยั่งยืน เงินหมดก็เลิก รองบใหม่ และรัฐบาลก็แจกลงไปไม่หยุดเพื่อให้เงินหมุน เศรษฐกิจโต โลกวันนี้เขาบริหารจัดการกันด้วยข้อมูลที่เรียกกันว่า Big Data การบริหาจัดการธุรกิจ องค์กร การจัดการทรัพยากร การจัดการผลิต การตลาด การจัดการระบบการขนส่ง การจราจร รวมไปถึงการจัดการทางสังคมการเมือง ความมั่นคง ยิ่งมีข้อมูลมากและมีระบบกลไกในการบริหารจัดการดีก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกวันนี้อยู่ที่บิ๊กดาต้า ไม่ต้องถามนายแจ็กหม่าก็รู้ว่า ข้อมูลใหญ่เป็นพลังอำนาจในการค้าขาย ในการจัดการองค์กร จัดระเบียบการค้าและระบบเศรษฐกิจเพียงใด แปลกใจว่า รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของ “ข้อมูลใหญ่ของชุมชน” (Big Community Data) ทั้งๆ ที่มีเครื่องมืออย่าง “ประชาพิจัย” ที่ UNDP ยังเอาไปเผยแพร่ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังยืมไปใช้ในหลายประเทศในแอฟริกาและละตินอเมริกาในโครงการชุมชนเข้มแข็งแก้ปัญหาโรคเอดส์ ข้อมูลใหญ่ของชุมชนไม่ได้มีแต่ “ปัญหาและความต้องการ” อย่างที่ทำๆ กัน แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การค้นหารากเหง้าชุมชน ค้นหาทุนทรัพยากร ทุนภูมิปัญญา ทุนทางสังคม ทำบัญชีแบบละเอียดว่าแต่ละครัวเรือนซื้ออะไร จ่ายอะไร กินอะไร ใช้อะไร และเป็นเงินเท่าไรต่อเดือนต่อปี มีรายรับจากไหนบ้าง แล้วไปทำข้อมูลปัญหาสารพัดของชุมชน รวมทั้งความต้องการและความฝันของชุมชน การเรียนรู้ในชุมชนและการออกไปศึกษาดูงาน เรียนรู้จากความสำเร็จความล้มเหลวของชุมชนอื่น ได้ความคิด ได้แรงบันดาลใจให้ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง พอมีข้อมูลก็จะรู้ว่าจะใช้ข้อมูลนั้นเพื่อวางแผนทำอะไร รู้ว่ากินไก่ กินไข่ กินปลา กินผัก เท่าไร ก็จะพบว่า อะไรลดได้ เลิกได้ ทำเองแทนการซื้อจากตลาดได้ จะพบว่า ชุมชนเองมีทุนมากมายและอาจมากกว่าใหญ่กว่าทุนจากรัฐบาลเสียอีก การคิดทำอะไรบนฐานข้อมูลก็จะได้แผนงานและโครงการที่เป็นของชุมชนจริงๆ ชาวบ้านก็จะแยกได้ว่า อะไรที่ตนเอง ครอบครัว ทำได้เอง เช่น การออม การปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ การวมกลุ่มกันทำวิสาหกิจชุมชน อะไรที่เป็นหน้าที่ของอบต. ของ อบจ. ของจังหวัด ของหน่วยงานต่างๆ ก็ส่งให้เขาไป ไม่ใช่คิดอย่างเดียว่าจะส่งโครงการไปของบที่ไหน งบประมาณรัฐบาลลงไปก็จะรู้ทันทีว่า จะเอาไปใช้ทำอะไร เพราะมี “แผนแม่บทชุมชน” รองรับอยู่แล้ว รู้ว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง การกินเล็กกินใหญ่ใต้โต๊ะบนโต๊ะเกิดไม่ได้ในชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม การทำโครงการนั้นง่าย มีเงินก็ทำได้ แต่การสร้างระบบต้องใช้ปัญญา ที่มาจากการเรียนรู้ และระบบเศรษฐกิจสังคมที่ดีของชุมชนเท่านั้นจะทำให้เกิดการพัฒนายื่งยืน จะนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง ที่มาจากฐานราก มาจาก “ข้างใน” จาก “ข้างล่าง” ไม่ใช่สั่งการจาก “ข้างบน” แบบ top down ที่วิจารณ์ไม่ได้