สถาพร ศรีสัจจัง อย่างน้อยสิ่งที่เรียกว่า “จิตใจเดือนตุลาฯ” ตามความหมายของคนที่ร่วมก่อการ หรือ เคยเข้าร่วมขบวนการ “ลุกขึ้นสู้” เมื่อครั้งเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” เมื่อ 46 ปีก่อน จนทำให้ประเทศไทยได้รับการปลดปล่อยจาก “ระบบปฏิกิริยาล้าหลัง” ในระดับหนึ่ง (ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบความสัมพันธ์ ทางการผลิตหรือระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมือง แม้แต่สิ่งที่หลายใครชอบเรียกว่าระบบทางการเมืองแบบ “เผด็จการ” ก็เถอะ!) นั้นมีเนื้อหลักอยู่สัก 2-3 ประเด็นด้วยกัน แต่อาจสรุปรวมๆได้เป็นเพียงประโยคเดียวหรือวลีเดียว ! นั่นคือ “จิตใจรักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ จงเจริญ !” ที่เรียกว่า “จิตใจรักความเป็นธรรม (แบบ 14 ตุลา)ฯ” นั้นอาจสรุปให้เห็นได้ง่ายๆก็คือ จิตใจแบบที่ “เช” นายแพทย์ เออร์เนสโต เกวารา (Dr.Ernesto Guevara) นักปฏิวัติจิตใจสากลนิยมชาวอาเจนตินา เคยนิยามด้วย “ความรู้สึก” ไว้ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า คือจิตใจแบบ “รู้สึก (โกรธจน) ตัวสั่นทุกครั้งที่ได้ยินหรือได้รับรู้ว่ามีความ อยุติธรรมทางสังคมเกิดขึ้น(อีกแล้ว) ณ ที่หนึ่งที่ใดของโลก!” ส่วนจิตใจ “กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ” หมายถึง จิตใจที่ไม่รู้สึกหวาดหวั่นขลาดกลัวต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม และเป็นภัยแก่สังคมส่วนรวม พร้อมทั้งมีความกล้าที่จะทุ่มตัวทุ่มหัวใจ เพื่อเข้าร่วมต่อสู้ให้ความถูกต้องชอบธรรมของประชามหาชนคนส่วนใหญ่เกิดขึ้น อย่างเปิดเผยสง่างามไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัว และท้ายสุดก็คือ พร้อมที่จะเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเพื่อดำรงไว้ซึ่งสัจธรรม เหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ใหญ่ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนเมื่อครั้ง วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นั้น เกิดขึ้นด้วยจิตใจเช่นนี้เอง จึงย่อมไม่มีพลังปฏิกิริยาใดๆสามารถต้านทานได้!! ขบวนการนักศึกษากลุ่มนำร่องทางความคิดที่อาจกล่าวว่าเป็น “กลุ่มหัวหอก” (Spearhead) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์วันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยครั้งนั้น (ที่คนไทยรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันอาจลืมเลือนไปหมดแล้ว ทั้งเพราะเจตนาที่เกิดจากการกระทำของกลุ่ม “อำนาจ” ทั้งหลาย ที่ต้องการให้เกิดภาวะเช่นนั้น และทั้งเพราะกระบวนทัศน์อันมี “ข้อจำกัดทางประวัติศาตร์” ของคนรุ่นปัจจุบันกำกับไว้ (พวกเขาเกิดในยุคระบบทุนนิยมจักรพรรดินิยมบริโภคนิยมที่มีเครื่องมือคุณภาพสูงหลายลักษณะ สามารถ “โปรแกรม” ให้ผู้คนเรียนรู้ได้เพียงปรากฏการณ์เชิงผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนและ “กลุ่มตน” เพียงเท่านั้น) นอกเหนือไปจากนั้น คือถ้าไม่เป็นไปตามที่พวกตนเชื่อ ที่พวกตนคิด และที่พวกตนสมาทาน เรื่องนั้นหรือคนกลุ่มอื่นๆเหล่านั้นต้องเป็นเรื่องและพวกที่ล้าหลังที่ใช้ไม่ได้! พวกเขาแทบไม่สนใจที่จะเรียนรู้ถึงคุณค่าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคมตัวเอง และมักขาดสติหลงลืมที่จะพิจารณาถึงด้านร้ายของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีโยนิโสมนสิการ ตามแนวคิดทางของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็น “รากแก้ว” ของสังคมไทย! บางใครจึงสรุป “ความเป็น” ของคนรุ่นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็น “รุ่นไร้ราก” ! จิตใจที่ “รักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ” อย่างบริสุทธิ์ใจแท้จริงนี่เอง ที่คือ “เกราะป้อง” ทำให้ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถทำลาย “จิตใจ 14 ตุลาฯ” ลงได้ (ไม่ใช่ “แนวทาง 14 ตุลาฯ” เพราะ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่มีสิ่งใดเป็นแนวทาง มีเพียงพลังความบริสุทธิ์ใจของตนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา และประชามหาชน ที่ต้องการต่อสู้เพื่อสถาปนา “ความเป็นธรรมทางสังคม” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริงเท่านั้น! โดยเหตุนี้เองกระมัง ที่บรรดา “นักทฤษฎี” หรือ “นักคิด” หรือ “นักวิเคราะห์ทางการเมือง” ทั้งหลาย ทั้งในช่วงกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ครั้งนั้น และ ในชั้นหลังๆ จึงวิเคราะห์เรื่องราวในครั้งนั้นกันไปต่างๆนานา บ้างก็ว่าที่นักเรียนนักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะเหนือเผด็จการทรราชย์ในครั้งก็เป็นเพียงเพราะบรรดา “ขุนทหาร” ขัดผลประโยชน์กันเอง หรือเพราะอะไรอีกต่างๆนานา ทั้งโดยแท้ที่จริงแล้วชัยชนะในครั้งนั้นล้วนได้มาก็เพราะผู้คนใน “ขบวนลุกขึ้นสู้” (ที่ขาดการจัดตั้งเกือบจะแทบ โดยสิ้นเชิง) มีพลังบริสุทธิ์ที่แท้จริงของ “จิตใจรักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ” เป็นอาวุธเท่านั้น! แล้ว 3 ปีหลังจากนั้น “เหตุการณ์เดือนตุลาฯ” ครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ที่เรียกกันในภายหลังว่า เหตุการณ์ “วันฆ่านกพิราบ” 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ได้ยกกล่าวมาแต่ต้นแล้วนั่นไง !!!