เสือตัวที่ 6
กระบวนการสร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับคนปลายด้ามขวาน ยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากแต่มีความแนบเนียนมากขึ้น โดยไม่ทิ้งร่องรอยของกระบวนการบ่มเพาะสร้างแนวคิดเกลียดชังต่อรัฐ ให้เห็นง่ายๆ อย่างในอดีตที่ผ่านมา โดยมุ่งเป้าเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐ และสานต่อแนวร่วมขบวนการให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน และกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกจากรัฐให้เกิดขึ้นในความคิดของผู้คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีนักวิชาการฝ่ายทหารกลุ่มหนึ่ง ที่ได้ใช้กระบวนการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการ โดยศึกษาข้อมูลเชิงลึกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานวิจัยที่หลากหลายแง่มุม จึงสามารถเป็นข้อค้นพบที่เชื่อมโยง ร้อยเรียงให้เห็นภาพของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชัดเจนและสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น โดยในแง่มุมของกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดในการร่วมมือกับขบวนการร้ายเพื่อร่วมต่อสู้กับรัฐ อย่างเป็นระบบนั้น พบว่า มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยสามารถนำเสนอข้อค้นพบสำคัญ ต่อเนื่องจากครั้งก่อน เป็นตอนที่ 3 ดังนี้
1. การสร้างความเชื่อมั่นในการต่อสู้ สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการบอกกล่าวว่าขบวนการฯ ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องมุสลิมจากต่างประเทศ การเข้าร่วมขบวนการของคนในพื้นที่มากมายแล้ว (เหลือผู้ถูกชักชวนเท่านั้น) สร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วภายใต้ความเชื่อต่างๆ ดังกล่าวที่ถูกปลูกฝัง หรือสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมขบวนการฯ เป็นต้น และหลังจากที่บุคคลเป้าหมายบรรลุผลการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบในเบื้องต้นแล้ว จะมีการสาบานตน (การซูเปาะ) หลังจากนั้น จะมีกระบวนการฝึก โดยมีครูฝึกเยาวชน ที่เรียกว่า “สต๊าฟ เปอมูดอ” รับผิดชอบสอนอาร์เคเคชั้น 2 (มีทั้งหมด 4 ชั้น) โดยชั้น 1 และ 2 เป็นช่วงศึกษาในตำรา ยังไม่ฟิตร่างกาย ยังไม่ได้ฝึกอะไร แต่ถ้าเป็นพวกออกปฏิบัติการ จะต้องอยู่ชั้น 4 คือเตรียมจะจบแล้ว จุดเริ่มต้นของการเข้าขบวนการฯ เกิดจากอุดมการณ์ โดยเฉพาะการปลดปล่อยเพื่อให้ได้เอกราช และความคึกคะนองในช่วงที่เป็นวัยรุ่น
โดยเริ่มจากการฝึกเพื่อสร้างความพร้อมของร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายในห้วงเวลาหนึ่ง แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ช่วงแรกจะใช้เวลาเป็นเดือน จนระยะหลังจะเหลือแค่ 15 – 20 วัน โดยแยกเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 6 คน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบจากเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากฝึกร่างกายแล้วก็จะมีการฝึกทดสอบจิตใจ ความอดทนต่างๆ เช่น การกลิ้งลงเขา หรือการแช่น้ำทั้งคืน หรือการขี่รถฝ่าไฟแดง เพื่อค่อยๆ ทดสอบจิตใจ สร้างความมั่นใจก่อน ด้วยการทดลองให้ทำงานเล็กๆ ก่อน เช่น โรยตะปูเรือใบ ดูต้นทาง หรือเผายางรถยนต์ เผาตู้โทรศัพท์สาธารณะ หากสำเร็จก็จะมอบหมายให้ทำงานใหญ่ๆ ต่อไป เช่น การนำวัตถุระเบิดไปวาง และการยิงเป้าหมาย เป็นต้น นอกจากนั้นการฝึก ยังมีการสอนการยิงปืน (ใช้ไม้แทนปืนจริง) ฝึกปฐมพยาบาล ให้ดูหนังสงคราม โดยจะมีการทดสอบทุกขั้นตอนของการฝึก เพื่อคัดเลือกผู้ที่ผ่านการฝึกในแต่ละขั้น เข้าสู่การฝึกขั้นสูงต่อไป ร่วมกับกระบวนการสร้างเชื่อมั่นในการต่อสู้ว่าชัยชนะของขบวนการฯ มีความเป็นไปได้จริง และการสร้างความฮึกเหิม จนกระทั่งตกลงใจเข้าร่วมกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในที่สุด
2. การปิดบังอำพราง เมื่อเด็กและเยาวชนที่มีลักษณะท่าทางและแนวคิดตรงตามต้องการแล้ว จะถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาจากผู้ที่มีหน้าที่โน้มน้าวสร้างสมาชิกร่วมขบวนการฯ ใหม่ จนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าและมีแนวคิดสุดโต่งแล้ว ก็จะถูกขบวนการนำมาสู่กระบวนการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมในการก่อเหตุรุนแรง โดยลักษณะการฝึกของขบวนการฯ จะเป็นการปฏิบัติแบบปิดลับ ที่แม้กระทั่งพ่อและแม่ จะไม่รู้ว่าลูกของตนไปไหนหรือทำอะไร เพราะส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนส่วนนี้ก็อยู่ที่โรงเรียนประจำ(หอพัก) หรือโกหกพ่อแม่ว่าไปอยู่บ้านเพื่อนบ้าง ไปทำงานที่มาเลเซียบ้างเพื่อปิดบังพ่อแม่ หลังจากฝึกแล้ว ก็จะใช้ชีวิตในสถานศึกษาของตนตามปกติ และการใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านของตนเองตามปกติ การทำความดี เป็นคนดีให้ปรากฏแก่สายตาของครู-อาจารย์ทั่วไปในสถานศึกษา หรือชาวบ้านในชุมชน ที่เรียกกันว่า “กลุ่มคนหน้าขาว” หรือ “แนวร่วมรุ่นใหม่” และรอรับคำสั่งให้ปฏิบัติการก่อเหตุ สำหรับการใช้ให้ก่อเหตุ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ความเหมาะสมกับวัย และสภาพของแต่ละคนหรือแต่ละพื้นที่ ใครทำผิดพลาดก็จะให้แก้ตัวใหม่ หรือบางครั้งก็จะถูกลงโทษ ด้วยการให้คำสัตย์แก่ตนเองในการอดอาหารจนกว่าจะก่อเหตุสำเร็จ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายสำคัญคือ ได้แนวร่วมขบวนการหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นการดำเนินการที่หากกระทำได้จนบรรลุเป้าหมายแล้ว จะส่งผลให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดแนวร่วมขบวนการฯ เพิ่มมากขึ้น ด้วยเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำนี้ จะร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไทยได้เป็นอย่างดี แม้เด็กและเยาวชนที่เป็นเป้าหมายเหล่านั้น ในเบื้องต้น จะไม่ถึงขั้นเข้าร่วมติดอาวุธ หรือร่วมใช้ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ก็ยังเป็นกลุ่มแนวร่วมขบวนการที่สำคัญ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้กับรัฐได้อย่างกว้างขวาง เช่น การติดตามเป้าหมายบุคคลของรัฐเพื่อการก่อเหตุร้าย หรือการหาข้อมูลข่าวสารให้กับแกนนำของขบวนการฯ ตลอดจนการเป็นส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนของขบวนการฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังสามารถปกปิดร่องรอยให้รอดพ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาฯ มีเป้าหมายสำคัญคือ การหล่อหลอมเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีความคิดความเชื่อในแนวทางเดียวกันกับขบวนการฯ ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นช่องว่างของหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่อาจเกาะติดคนรุนใหม่เหล่านี้ที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมในแฟ้มประวัติของทางการรัฐไทยแต่อย่างใด ช่วยทำให้การก่อเหตุร้ายต่างๆ กระทำได้ง่ายขึ้นจากการหาข่าวหรือการสืบสวนติดตามจับกุมของฝ่ายรัฐ หลังการก่อเหตุร้ายแล้ว กลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีประวัติขาวสะอาด จึงสามารถช่วยปกปิดร่องรอยการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไทยได้อย่างทรงพลัง