รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ณ วันนี้ คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า กระแสการเมืองไทย กลับมาร้อนแรง และกลับมาแข่งขันกันอย่างดุเดือดอีกครั้ง เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. นครปฐม เขต 5 เป็นผลจากการที่นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส. อนค. ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 10 ก.ย. 2562 เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ จนไม่สามารถปฏิบัติ หน้าที่ได้ ต่อมา กกต. ได้ประกาศจัดการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 ต.ค. 2562 การเลือกตั้งซ่อมเขต 5 จังหวัดนครปฐม มีความหมายมากกว่าเลือกตั้ง ส.ส.เขต เพราะเป็นการแย่งชิงคะแนนเสียงกัน ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล รวมถึงเป็นการเตรียมการรับมือการเลือกตั้งซ่อม ในอีกหลายๆ เขต ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อม จึงเป็นภาพสะท้อนคะแนนนิยมของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เป็นรูปธรรมก็คงไม่ผิดนัก อย่างไรก็ตามหากจะพูดถึงคะแนนนิยมทางการเมืองแล้ว “ดัชนีการเมืองไทย” เดือนกันยายน 2562 ถือเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมของ “คะแนนนิยมทางการเมืองของรัฐบาล ประยุทธ์ 2” การสำรวจความคิดเห็น “ดัชนีการเมืองไทย เดือนกันยายน 2562” โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัย สวนดุสิตนั้น สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,456 คน สรุปผลได้ว่า ประชาชนให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยเดือนกันยายน ที่ระดับคะแนน 4.12 ซึ่งมีคะแนนลดลงกว่าดัชนีเดือนสิงหาคม ที่มีระดับคะแนน 4.51 เมื่อพิจารณาจากผลดัชนีแล้ว เรียกได้ว่า “สอบตก” แบบเห็นเห็น..!! ซึ่งก็ไม่อยากให้มองในเชิงลบ แต่อยากให้มองใช่เชิงของโอกาสในการพัฒนา ซึ่งะทำให้เห็นภาพ “จุดบอด” ทางการเมืองไทยในมิติต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ประชาชนให้คะแนน 25 ตัวชี้วัดดัชนีการเมืองไทย ซึ่งมีคะแนนเต็ม 10 เรียงลำดับ พบว่า ประเด็นที่ “ประชาชน” ให้คะแนนมากที่สุด คือ การปฏิบัติงานของฝ่ายค้าน 5.75 รองลงมา ได้แก่ ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆให้ประชาชนได้รับรู้ 5.06 จริยธรรม /วัฒนธรรมของคนในชาติ 4.81 ความสามัคคีของคนในชาติ 4.81 การจัดการศึกษาสำหรับประชาชน 4.51 การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม 4.44 ความมั่นคงของประเทศ /การก่อการร้าย 4.44ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 4.25 การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า 4.22 การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล 4.13 สภาพของสังคมโดยรวม 4.12 การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระ 4.10 ผลงานของนายกรัฐมนตรี 3.92 ผลงานของรัฐบาล 3.90 การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 3.89 การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวม 3.88 ความเป็นอยู่ของ ประชาชน 3.79 การปฏิบัติตนของนักการเมือง /ความสามัคคีของนักการเมือง 3.74 การแก้ปัญหายาเสพติด 3.72 ค่าครองชีพ /เงินเดือน /ค่าจ้าง /สวัสดิการ 3.64 สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม 3.64 การแก้ปัญหาคอรัปชั่น 3.62 การแก้ปัญหาการว่างงาน 3.59 การแก้ปัญหาความยากจน 3.36 และ ราคาสินค้า 3.86 พิจารณาจากดัชนีการเมืองรายด้านแล้ว ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุที่หลากหลายที่ฉุดดัชนีการเมืองไทยให้ตกต่ำ ไม่ว่าจะราคาสินค้า การแก้ปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาการว่างงาน การแก้ปัญหาคอรัปชั่น และสภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม ล้วนเป็นดัชนีที่มีคะแนนน้อยที่สุด 5 อันดับแรก ซึ่งฉุดให้ดัชนีการเมืองไทยตกต่ำ และเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของรัฐบาล ผลการสำรวจ “ดัชนีการเมืองไทย” เดือนกันยายน 2562 ที่นำเสนอสู่สายตาสาธารณชน ไม่ได้เป็นแค่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในมิติด้านการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ระดับคะแนนของดัชนีรายด้านแต่ละด้านยังสะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของปัญหาในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่สังคมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งระดับคะแนนสูงต่ำที่แตกต่างนั้น เปรียบเสมือนเป็นการจัดลำดับก่อนหลังของความรุนแรงของปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน ตลอดจนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาความแตกแยกทางการเมืองที่ยังคงแฝงอยู่ในสังคมไทย ปัญหาต่างๆ ที่สะท้อนผ่าน “ดัชนีการเมืองไทย” ที่มีคะแนนในระดับต่ำ คงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่น้อย แต่สิ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายฉุกคิดจาก “ตัวเลข” ที่ปรากฏ ก็คือ การประเมินสภาพการเมือง จากการสัมผัสจากสิ่งที่พบเจอ สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง โดยประชาชนที่อาศัยอยู่และเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นๆ อย่างแท้จริง ผลของดัชนีการเมืองไทย อาจจะไม่ตรงใจ ไม่ถูกใจ หรืออาจจะไม่ใช่ดัชนีชี้วัดที่ดีที่สุดในสายตาของใครหลายคน แต่อย่างน้อยน่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้เตรียมตัวเตรียมใจและตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเต็มความรู้ความสามารถ... แล้วจะทำอย่างไร? ให้สถานการณ์การเมืองดีขึ้นในสายตาประชาชน ก็คงต้องพิจารณาจากข้อเสนอแนะทางด้านการเมือง ณ วันนี้ พบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลทำให้มากที่สุด ร้อยละ32.97คือ ควรห่วงใยประชาชนและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น น้ำท่วม การเกษตร เป็นต้น รองลงมา ได้แก่ เน้นความสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ร้อยละ21.55 ควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด แก้ให้ตรงจุด ร้อยละ19.15 ใช้งบประมาณให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ร้อยละ18.05 และมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานเต็มกำลังเต็มความสามารถ ร้อยละ16.76 คงได้แต่หวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะ “รู้ร้อนรู้หนาว” และสนใจข้อมูลจากประชาชนเหล่านี้บ้าง เพราะหากไม่เหลียวแลแล้ว...!! ก็ไม่กล้าคิดต่อจริงๆ ว่า ผลคะแนนดัชนีการเมืองในเดือนต่อๆ ไป จะเป็นอย่างไร?...แล้วถ้าเชื่อมโยงผลดัชนีการเมือง รวมกับการเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดแล้ว… ก็น่าจะพอทำให้เห็นว่า “ใคร? มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิการเมืองไทยได้มากกว่ากัน”…คาดเดาได้ไม่ยากจริง..!!