สถาพร ศรีสัจจัง วงการสื่อไทยเมื่อไม่นานมา...ไม่น่าจะนานกว่า 46 ปี..ใช่แล้ว..น่าจะเริ่มต้นหลังจากปีพุทธศักราช 2516 ปีที่สังคมไทยและ “หลายใคร” มีเรื่องเกิดขึ้นในชีวิต..เปลี่ยนวิถี..ก่อความทรงจำบางประการ ที่บางใครอาจลืมแต่บางใครไม่เลือน เพราะไม่อาจ..และไม่สามารถ..บ้างเป็นปี 2516 นั้น และ บ้างเป็น 3 ปีถัดมา คือเมื่อเดือนตุลาฯปี 2519 ที่ใครบางคนตั้งชื่อให้รู้สึกวาบๆไว้ว่า “วันฆ่านกพิราบ” และ ไพบูลย์ วงศ์เทศ กวีร่วมสมัยคนสำคัญเคยเขียนไว้ในทำนองว่าหลังจากเกิดเหตุวันนั้นแล้ว “ไม่มียุคไหนสมัยหน้า/กวีหักปากกาไปทำสวน...” คือสิ่งที่น่าจะเป็นที่มาของคำ”ตุลาฯอาถรรพ์”! ครั้งกระโน้น..เมื่อไม่นานนัก! คือคำที่บรรดา “นักการสื่อสาร” ยุคเก่า โดยเฉพาะในวงการสื่อสิ่งพิมพ์นิยมนิยามความสำคัญของ “เดือนตุลาคม” ให้มีฐานะดังกล่าวนั้น, ทำไม? คงเป็นเพราะอย่างน้อยในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยระยะใกล้ของไทย(ในรอบกึ่งศตวรรษ) เคยมีเหตุการณ์ “ใหญ่” ที่ส่งผลสะเทือน และ เป็นหมุดหมายสำคัญทางสังคมเคยเกิดขึ้นในประเทศนี้(ประเทศที่ “วิทยากร เชียงกูร” นักคิดนักเขียนลือนามยุค “14ตุลาฯ” เคยให้นิยามไว้ว่า “ประเทศเล็กๆที่ไม่เคยสร้างสมสิ่งดีๆไว้มากนัก” ในเดือน “ตุลาคม” อย่างน้อยก็ 2 เหตุการณ์ด้วยกัน “การณ์” ทั้ง 2 “เหตุ” ดังที่ยกกล่าวมาแล้วในย่อหน้าแรกก็คือ เหตุการณ์ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ”ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2516 ครั้งหนึ่ง กับเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ” ที่เกิดขึ้นในห้วงปี พ.ศ.2519 อีกครั้งหนึ่ง! สองเหตุการณ์นี้เองกระมัง ที่ทำให้สื่อมวลชน(โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์)ในอดีตอันใกล้ก่อนหน้านี้ มักนำคำ “ตุลาอาถรรพ์” ไปใช้ในสื่อของพวกเขาอยู่บ่อยๆ ทั้งที่เป็นคำระดับ “ข่าวพาดหัว” หนังสือพิมพ์รายวัน หรือในบทความเชิงวิเคราะห์ทางการเมืองในนิตยสารหรือวารสารวิเคราะห์ข่าวก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สำคัญอย่างไร? แม้ทักษิณ ชิณวัตร จะเป็นคนร่วมสมัยกับ “เจน” นี้ แต่เขาก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีคุณูปการแต่อย่างใดกับเหตุการณ์ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” (สำนวนของบางใครในยุคนั้น) ครั้งนั้นเพราะดูเหมือนช่วงนั้นเขาจะเป็นนายร้อยตำรวจที่กำลังเรียนหนังสือต่ออยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือเมืองนอกที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่ “เขานั่นแหละ!” (สำนวนศิลปิน วสันต์ สิทธิเขตต์ เมื่อคราวอ่านบทกวีประกอบการแสดงดนตรีของวง “คาราวาน” ที่เวทีหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกาลครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว)คือผู้ได้ “ใช้งาน”จากผลสะเทือนที่เกิดจากเหตุการณ์เดือนตุลาฯปี 2516 อย่างจั๋งหนับ! คือได้ใช้ทั้ง “สถานการณ์” (ที่เป็นผลสะเทือนจากเดือนตุลาฯ) และ “คนเดือนตุลา” ให้เป็นประโยชน์ จนสามารถสร้างตัวเองให้กลายเป็น “Somebody” ที่มั่งคั่งของประเทศไทยและมีชื่อเสียงระดับโลกอยู่ได้จนถึงบัดนี้ ถ้าใครอยากรู้เรื่องนี้ให้ละเอียด มีคนเดือนตุลาฯหลายคนที่สามารถอธิบายได้ดีอย่างแน่นอน ไม่ว่า จะเป็น ท่านภูมิธรรม เวชชชัยหรือ “อ้วน” ของเพื่อนๆ ผู้เป็นอดีตชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นักการเมืองคู่ใจคุณทักษิณ ที่ฟังว่าปัจจุบันได้ “ล้างมือในอ่างทองคำ” อำลายุทธจักรไปแล้ว หรือไม่ก็อาจเป็น อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่าง จรัล ดิษฐาอภิชัย นักปฏิวัติจากเมืองพัทลุงคนนั้น ที่บัดนี้ฟังว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองสมบูรณ์แบบอยู่ในประเทศฝรั่งเศสที่เขาคุ้นชิน(เพราะแปลหนังสือ “การปฏิวัติฝรั่งเศส”?) หรืออาจจะอีกหลายคน ตั้งแต่นายแพทย์เหวง โตจิราการ จนถึง กวีมือทองอย่างวิสา คัญทัพ นั่นไง! แม้เมื่อถึงวันนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯจะถูกทำให้แทบกลายเป็น “ธุลีในประวัติศาสตร์” ไปแล้วในสายตาของคนร่วมสมัย(แม้แต่ผู้เคยเข้าร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้นบางคน) แต่ความเป็นจริงก็ย่อมเป็นความจริง ประวัติศาสตร์ก็ย่อมเป็นประวัติศาสตร์ เพราะแม้ “อำนาจ”(โดยเฉพาะสิ่งที่คนรุ่น 14 ตุลาฯ เรียก “อำนาจรัฐปฏิกิริยา”) จะสามารถบิดเบือนและ “Be lilting” (คือทำเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก/ทำเรื่องสำคัญให้กลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ)อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณเดือนตุลาฯ” ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหรือสิ่งใดสามารถทำลายลงได้ อะไรคือจิตวิญญาณหรือ “จิตใจเดือนตุลาฯ” กันเล่า?..