เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ประเทศไทยมีผู้อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 11 ล้านคน อีก 3 ปี จะมีประชากรสูงวัยร้อยละ 20 เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ตามเกณฑ์สากล
ผู้สูงอายุในสังคมไทยวันนี้มีมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี วันนี้อัตราการเกิดต่อประชากร 1,000 คนของไทยจะอยู่ที่ 10.5 อัตราการตายอยู่ที่ 8.1 ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรมีเพียงร้อยละ 0.2 อยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชากรเพิ่มน้อยที่สุดในโลก
ดูญี่ปุ่นไว้ก็ดี ประเทศนี้เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนใคร ต้องเที่ยวไปสร้าง “นิคมสว.” ไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่มีพร้อมทุกอย่างเพื่อรองรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าอากาศ อาหารการกิน การบริการสุขภาพ สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และผู้คนที่ต้อนรับคนต่างชาติ
ประเทศไทยมีแผนการรองรับผู้สูงอายุ เห็นทำกันทั่ว ทั้งในเมืองและในชนบท แทบทุกเทศบาล อบต. มีโครงการ มี “โรงเรียน” สำหรับผู้สูงอายุ และดูเหมือนเป็นสูตรสำเร็จไปแล้ว ทำอะไรเหมือนๆ กันหมด เพราะคงง่ายต่อการของบประมาณ ขณะที่รัฐบาลก็ขยันมีสวัสดิการต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง
อยากเสนอ 10 ฐานการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อลูกหลาน ผู้เกี่ยวข้องจะได้เกิดความรื่นรมณ์ ความสุขด้วยกัน หลายอย่างก็ทำกันอยู่แล้ว แต่ลองจัดให้เป็นระบบ ส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาตน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุสนใจร่วมกิจกรรม เชื่อว่าจะได้ผล ใครที่เรียนผ่าน 10 ฐานนี้ควรมีรางวัลให้อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งประกาศนิยบัตร
ฐาน 1 ศิลปะดนตรี คีตลีลา ร้องเพลง เล่นดนตรี ร้อง รำ หรือศิลปะพื้นบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะคิดว่าใครๆ ก็ร้องได้รำเป็น มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นสักอย่าง ก็ให้ได้เรียนรู้พัฒนาตนเอง ที่เป็นอยู่แล้ว เก่งแล้วก็มาทดสอบ ถ้าผ่านก็เก็บไว้เป็นคะแนน ไม่ต้องทำทุกยอย่าง ขอให้เป็นอะไรสักอย่าง สร้างความเชื่อมั่น
ฐาน 2 การเกษตร ปลูกผัก ปลูกพืช ทำไร่ ทำสวน ทำนา เลี้ยงสัตว์ อย่างใดอย่างหนี่ง คนชนบทอาจไม่ยาก แม้แต่คนเมืองคนไม่เคยทำการเกษตรก็ไม่ยาก อยู่บ้านจัดสรร คอนโด ก็มีวิธีทำง่ายๆ ได้
ฐาน 3 หัตถกรรม งานประดิษฐ์ อะไรก็ได้ที่เป็นงานที่ทำด้วยมือ เครื่องใช้ เครื่องมือ เสื้อผ้า เย็บปักถักร้อย รวมไปถึงถึงความรู้ความสามารถในการก่อสร้างเล็กใหญ่ ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านหรือสมัยใหม่
ฐาน 4 ทำอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ตั้งมาตรฐานในการประเมินไม่เพียงแต่ทำเป็น แต่ทำได้ดี ได้อาหารดีต่อสุขภาพ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพอาหาร สารตกค้างในอาหารจากการผลิต การแปรรูป รู้จักเลือกวัตถุดิบ การทำขนม เครื่องดื่ม ฐานนี้ควรทำเป็นทั้งสามอย่าง
ฐาน 5 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทุกคนทำได้วิธีใดก็ได้ ง่ายๆ ก็แกว่างแขน รำมวยจีน รำไทย ท่ามวยไทย เต้นแอโรบิก เดิน จ๊อกกิ้ง ขอให้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งเป็นอย่างน้อย
ฐาน 6 ความรู้พื้นฐานสุขภาพ ให้ผู้สูงอายุปรับความเข้าใจใหม่ว่า “หมอไม่ใช่เทวดา ยาไม่ใช่ของวิเศษ” แต่ “ยาดีที่สุด คืออาหาร โรงพยาบาลดีที่สุด คือครัว หมอดีที่สุด คือตัวเราเอง” ให้มีความรู้ความเข้าใจระบบสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อจะได้ดูแลตัวเองให้มากที่สุด ไม่ใช่เอะอะก็กินยาหาหมอ ฐานนี้ตั้งเกณฑ์ให้ดี
ฐาน 7 ทำสมาธิ ตามวิถีของแต่ละศาสนา การสวดมนต์ การทำจิตให้สงบ แผ่เมตตา ทำเป็นกิจวัตร ไม่ใช่แต่เมื่อไปวัดไปโบสถ์ แต่ที่บ้านด้วย บางคนอาจจะทำโยคะ หรือวิธีอื่นๆ
ฐาน 8 ใช้โทรศัพท์มือถือ เล่นเน็ตเป็น คนอาจคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผู้สูงวัย แต่น่าจะคิดผิด เพราะคนแก่แม้ในชนบทห่างไกลก็ใช้มือถือ เล่นไลน์ เปิดเน็ตดูยูทูป ดูหนังดูละครเป็น แต่ความรู้เรื่องเน็ตควรรวมไปถึงวิธีการหาข้อมูลความรู้ในเน็ตด้วย ไม่ใช่โทร.เป็น ดูหนังดูละครเป็นอย่างเดียว
ฐาน 9 บทเรียนเกษียณวัย เขียนเอง หรือให้ลูกหลานเขียนโดยเป็นผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งพินัยกรรม เจตจำนงมรณกรรม นอกจากจะเป็นการทบทวนชีวิตของตนเอง ก็เป็นการถ่ายทอดบทเรียนชีวิตให้ลูกหลาน เขียนเองก็ได้ ให้ลูกหลานหรือคนอื่นเขียนให้ก็ได้ ทำเป็นหนังสือเล่มเล็กแจกลูกหลานญาติมิตร
ฐาน 10 จัดการความรู้ (KM) สรุปบทเรียนชีวิตเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับคนอื่น แต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์บางอย่างที่โดดเด่น ก็ให้สรุปบทเรียนในเรื่องนั้นเพื่อแบ่งปันให้ผู้อื่น ซึ่งคงไม่ง่ายสำหรับผู้สูงวัยทั่วไป นอกจากมีการอบรมแล้วก็มีผู้ช่วย ลูกหลาน ครู ผู้นำในชุมชนช่วยทั้งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ส่วนตัว
เทศบาล อบต. ที่สนใจนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้ก็ทำได้เลย ผมคิดขึ้นเองและเรียกว่า “โครงการสูงวัยสวัสดิ์” ใน “อะคาเดมีชีวิต” (Life Academy) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ขอให้ผู้สูงอายุ ครอบครัว ลูกหลานและสังคมได้ประโยชน์เท่านั้น ปรับให้เข้ากับบริบททางสังคม และสภาวะทางร่างกายจิตใจของผู้สูงวัย
ขอให้พัฒนาเกณฑ์ ตัวชี้วัดเอง มาตรฐนสูงต่ำแค่ไหนก็ทำได้ ถ้าแต่ละฐานคะแนนเต็ม 10 ใด้เกิน 5 ถือว่าสอบผ่าน และถ้ารวมทุกฐานได้เกิน 50 ก็ผ่าน ควรให้รางวัลพิเศษแก่คนที่ได้คะแนนเกิน 80 (เกียรตินิยม !) และคนที่ได้บางฐานเต็ม 100 ก็มีเหรียญมีรางวัลพิเศษให้ จัดการพัฒนารายละเอียดเอาเอง
วันหนึ่ง ผมจะจัดให้มีการประเมินในส่วนกลาง พร้อมกับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณในระดับชาติในงาน “สูงวัยสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล” ประจำปี
ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ผ่าน 60 ปีนี้ ขอให้มีความสุข อย่าเจ็บ อย่าจน มีคนรักมากกว่าคนชัง สุขภาพดี มีอายุเกินร้อยปีเทอญ