บางคนบางขณะก็อาจจะลืมไปว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในห้วงแห่งการปฏิรูป ยามอยู่ต่อหน้าวิกฤติการเมืองที่ล่อแหลมอันตราย เสียงเรียกร้องการปฏิรูปพร้อมเพรียงกัน และก็สามารถก้าวเดินคืบหน้ามาได้เรื่อย ๆ แต่กลุ่มชนในสังคมทุกสังคมประกอบด้วยคนหลายระดับ ความพอใจต่อการปฏิรูปในระยะสองปีที่ผ่านมาจึงมีระดับต่าง ๆ กัน ก่อนอื่นจึงควรเข้าใจธรรมชาติของการปฏิรูปว่า มันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใช้เวลามาก เพราะการปฏิรูปไม่อาจสำเร็จบรรลุด้วยอำนาจคำสั่งใด ๆ แต่รากฐานความสำเร็จอยู่ที่ “คน” คือต้องปรับปรุงคน ปฏิรูปคน ผ่านไปเพียงสองปี แก้ไขคุณภาพคนไม่ได้มากหรอก ดูจากปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นตัวอย่าง เมื่อสิบปีก่อน ( พ.ศ. 2549) องค์กรต่างชาติชื่อ สถาบัน Asian Intelligence เสนอผลการวิจัยสังคมไทย ชี้จุดอ่อนเรื่องการคอร์รัปชั่น เขาเสนอว่า ประเทศไทยมีปัญหาการทุจริตรุนแรงในระดับมากถึงมากที่สุด โดยที่รัฐไทยมีความพยายามแก้ปัญหาในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และคนไทยมีความอดทนต่อการทุจริตมากถึงมากที่สุด ซึ่งปัญหาของไทยในปัจจุบันมาจากสังคมไทยมีวัฒนธรรมแบบหลวม ยอมจำนนง่าย ขาดความผูกพันต่อสาธารณสมบัติ และมีค่านิยมในเรื่องพวกพ้อง จึงเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กระจกที่สะท้อนนี้อาจจะผิดก็ได้ ไม่ควรจะทะเลาะกับกระจก แต่ควรสำรวจตัวเอง มองหาจุดอ่อนเพื่อพัฒนาปรับปรุงตนเอง ซึ่งผ่านมาสิบปี สังคมไทยก็ตื่นตัว พยายามแก้ไขปัญหาด้านนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คอร์รัปชั่นมันยังไม่หมดไปง่าย ๆ เพราะรากลึกมันยังฝังอยู่กับ “คน” เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหานี้ สังคมทุ่มเทกันไม่น้อย เพียงแต่คนไทยมักจะ “ตื่น” กับเรื่องราว สถานการณ์เฉพาะหน้ารายวัน จนลืมแยกเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องยุทธศาสตร์กับเรื่องยุทธวิธี เรามาย้อนดูแนวทางใหญ่ ๆ สักหน่อย เพื่อจะไม่หลงเดินเข้าตรอกเล็ก ๆ ดูว่าเราทำตามแนวทางใหญ่ ๆ นี้ ได้ดีเพียงใด ยังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงกันอีกบ้าง แนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น 1. สนับสนุนพลังทางสังคมที่เข้มแข็งในการป้องกันและสนับสนุนการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังมากขึ้น 2. ปรับเปลี่ยนเจตคติทางสังคมให้เอื้อต่อการเอาชนะปัญหาทุจริต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการเป็นต้นแบบการทำงาน ควรกำหนดนิยามคำว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการทำผิดทางคุณธรรมจริยธรรม 3. สร้างบรรทัดฐานสำหรับผู้บริหารประเทศให้เป็นแบบอย่างในด้านการประกอบอาชีพสุจริต และเสียภาษีรายได้แก่รัฐ 4. สร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลต้องกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม และสำนักเทียบเท่าทุกหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องนำมาตรฐานบรรษัทภิบาลมาใช้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจด้วย 5. ส่งเสริมกระบวนการผู้ชี้เบาะแสและคุ้มครองพยานในการปราบปรามการทุจริต 6. เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการคดีทุจริตที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ขอให้การปฏิรูปก้าวหน้าไปตามลำดับ ตามระดับการยกมาตรฐานจริยธรรมทางสังคมของคนไทย อย่าให้ความคิดสุดโต่งสองขั้ว คือขั้วหนึ่ง มุทะลุ เร่งร้อน หวังผลเกินกว่าพื้นฐานความเป็นจริงในระดับองค์รวมทางสังคม อีกขั้วหนึ่ง เฉื่อยชา หรือกระทั่งต่อต้าน มาเป็นตัวทำลายการปฏิรูปเสียกลางคัน