แม้มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จะถูกนำไปปั่นกระแส สร้างความเข้าใจผิด ให้กับสังคมเปรียบเทียบกับการช่วยเหลือปัญหาอุทกภัยที่จ.อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นเรื่องต่างกรรม ต่างวาระกัน ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ ออกมาก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่แล้ว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยว รองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษญกิจชะลอตัว จากผลกระทบเศรษฐกิจโลก
ซึ่งในงานสัมมนา “The NEXT Thailand 4.0 : ทางออกเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” นั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ แม้จะเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่เกิดวิกฤติ แต่ไทยก็ต้องไม่ประมาท เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี เมื่อรัฐบาลเข้ามาก็ได้ออกชุดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เนื่องจากมีบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มาแล้ว ดังนั้น จึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้เมื่อความต้องการในต่างประเทศลดลง ก็กระตุ้นจากภายในประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อน ที่ยึดโยงกับการค้าขาย แรงงาน ถ้าจับจ่ายใช้สอย ช่วยกันซื้อก็หมุนเวียนในประเทศ จะประคองไปได้ อย่างมาตรการชิมช็อปใช้ เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยระหว่างกัน ร้านค้าชุมชนก็อยู่รอดได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ดูแลภาคเกษตร เช่น ข้าว ที่มีการประกันรายได้ ซึ่งมาตรการนี้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ใช้ไปตลอดและต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจภายนอก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจข้างนอกจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังยกข้อมูลจาก ธนาคารโลก ที่ระบุว่า ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ต่ำแล้ว โดยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างไปทางสูง แต่ไทยก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในประเทศต่อไป โดยต้องเปลี่ยนจากการเน้นอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นผู้ผลิตให้กับรายใหญ่ และได้มูลค่าการส่งออกสูง ก็ควรจะปรับมาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ
รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนให้เกิดในประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำแบบองค์รวม เพื่อให้ปัจจัยเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ
จะเห็นได้ว่าการประคองสถานการณ์เศรษฐกิจให้ผ่านจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งมีทั้งมาตรการที่บรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น และแผนการรับมือในระยะยาว
ในขณะที่การช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาอุทกภัย และมาตรการเยียวยาต่างๆก็จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมาตร
การเยียวยาจากรัฐบาลนั้นมีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มีอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างทันท่วงที หรือมีประเด็นชี้นำไปให้เห็นว่า ไม่มี
อันนี้คือ ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลจะต้องขบคิดและทบทวนเป็นบทเรียน หาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในอนาคต
เพราะแม้จะออกมาตรการที่ดี มีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาได้ตรงจุดแค่ไหน อย่างไร เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างความเข้าใจและที่จูงใจให้เกิดอารมณ์ร่วมของสังคมต่อสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่