สถาพร ศรีสัจจัง คุณอนันต์ ดิสระ อดีตพัฒนาสังคมจังหวัดสงขลานั้น เป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนฝูงร่วมรุ่นชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน และผู้คนที่ได้มีโอกาสร่วมงาน ว่าเป็นข้าราชการใน พระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีจิตอาสาสูงยิ่ง เมื่อครั้งวัยหนุ่มได้มีโอกาสมาทำงานสนองโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่านที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสแห่งนี้ ท่านเล่าว่า ครั้งนั้นพื้นที่สุคิรินทั้งหมดยังเป็นเขตป่าเขาแท้ๆ ไม่มีถนนหนทาง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆทั้งสิ้น เป็น “ป่าเสือดงช้าง” อย่างแท้จริง โครงการที่ท่านได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในครั้งนั้น คือการทำนาขั้นบันไดเพื่อเป็นตัวอย่างให้สมาชิกชาวนิคมสร้างตนเองสุคิรินรุ่นแรกๆที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่นชาวอีสานได้ดูเป็นตัวอย่าง จะได้มีข้าวเก็บไว้กินโดยไม่ต้องออกไปหาซื้อถึงอำเภอแว้งหรือสุไหงโกลกที่แสนจะห่างไกลยิ่ง ท่านบอกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงอธิบายว่าคนอีสานนั้นเขาคุ้นกับการทำนา ก็ต้องคิดหานาให้เขาทำ ครั้งนั้นท่านจำได้ว่าเขตพื้นที่ “นาขั้นบันได” ตัวอย่างอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ตำบลภูเขาทองซึ่งตั้งอยู่ใกล้แหล่งเหมืองแร่ทองคำ “โต๊ะโมะ” นั่นแหละ ถึงวันนี้ กลายเป็นเรือกสวนยางพาราและไม้ผลไปหมดแล้ว การจัดการที่ดินนิคมสร้างตนเองครั้งนั้นใช้วิธี “ล้างป่า” แล้วสร้างขึ้นใหม่ เริ่มโดยให้มีผู้มาประมูลทำไม้มีค่า ออกไปก่อน แล้วให้บริษัทมารับเหมาเผาสุมล้างป่าทั้งหมดเพื่อปลูกยางพาราและสวนผลไม้ตามที่ได้วางแผนไว้ เมื่อปลูกพันธุ์ไม้เรียบร้อยแล้ว จึงจะให้ชาวบ้านสมาชิกนิคมผู้ได้รับสิทธิทำกินในที่ดินแปลงนั้นๆเข้าไปอยู่อาศัยและดูแลรักษาพืชผลที่เป็นสิทธิของตนโดยชอบ ตามกฏเกณฑ์ที่ทางนิคมสร้างตนเองวางไว้ คุณอ๋อยพาเราแวะไป “จุดชมทะเลหมอก” ของ “วัดพระธาตุภูเขาทอง” แม้ตอนที่เราไปถึงทะเลหมอกจะไม่หนาหนักนัก แต่เมื่อทอดสายตาไปรอบๆ ภูมิทัศน์ที่ปรากฏอยู่ลิบๆ ล้วนเป็นเทือกเขายาวเหยียดที่เป็นพรมแดนกั้นขวางประเทศเพื่อบ้านเอาไว้ และเห็นป่าดงดิบที่ยังอุดมสมบูรณยิ่ง พื้นที่ชมทะเลหมอกที่ทางวัดได้จัดสร้างอาคารที่พักชนิดหรูหราสวยงามไว้รอนักท่องเที่ยวนั้น ถูกแต่งเติมด้วยต้นไม้ประเภทปาล์มให้เห็นโดยทั่วไป ฟังว่า เป็นฝีมือของนักจัดสวนมือหนึ่งของประเทศไทยคือ “สวนนงนุช” เป็นผู้มาดำเนินการให้ แต่ที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือต้นไม้พื้นเมืองที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่โดยรอบ เช่น จำปูหลิ้ง มะไฟป่า(ขี้กา) ทุเรียนพื้นบ้าน และไม้ยืนต้นพื้นเมืองอีกหลายชนิดที่เราไม่รู้จักนั่นเอง แล้วจุดไคลแม็กของเรื่องก็มาถึง เมื่อรถ “คุณอ๋อย” เจ้าหน้านิคมฯผู้นำเที่ยว ค่อยๆชะลอรถและจอดลงหน้าณบ้านริมถนนเชิงเขาหลังหนึ่ง ด้านหน้าบ้านอีกฟากถนนเป็นลำห้วยน้ำไหลแรง แล้วการบริโภคทุเรียนอย่างเอาจริงเอาจังก็เริ่มต้นขึ้น ณ จุดนี้เอง สมาชิกเก่าแก่ของนิคมสร้างตนเองสุคิรินรุ่น 2 ทั้งผัวเมียดูจะสนิทสนมกับคุณอ๋อยมากคนเป็นภรรยาเป็นชาวลำปางสามีเป็นคนยะลา ทั้งสองมีน้ำใจไหลเชี่ยวนัก ขนทุเรียนมาแกะให้ทานหลายลูกมีทั้งก้านยาว หมอนทอง และชะนี ทั้งชนิดเนื้อเละแบบปลาร้าและแบบยังห่ามๆแข็งๆแบบที่คนกรุงเทพชอบกิน พอบางใครที่นิยมบริโภคทุเรียนเป็นพิเศษในกลุ่มเอ่ยขึ้นว่า “อยากกินทุเรียนบ้าน” (พื้นเมือง) เพียงครู่เดียว ทุเรียนลูกเล็กๆแบบกะทัดก็มาถึง บางใครที่ว่านั่นบอกว่า “ทุเรียนบ้านสุคิรินอรีอยมั่กๆ” กลับถึงที่พัก คือบ้านพักรับรองของนิคมสร้างตนเองสุคิรินก็เกือบค่ำ หลังอาบน้ำอาบท่าเสร็จก็ถึงเวลาอาหารเย็น โต๊ะอาหารระดับมาตรฐานที่ฟังคุณอนันต์เล่าว่า เคยรับรองใครต่อใครมานักต่อนักที่ต่อทอดจากอาคารหลักไปทางลาดสันเขา ทอดตามองไปไกลๆเห็นเหลื่อมเขาทับซ้อนกันเป็นคลื่นสีเขียวเทา บางใครชี้ให้ดูนกเงือกที่กำลังยินกลับโพรงรัง ช่างเป็นภาพน่าดูจริงๆ แต่บางใครบอกว่าที่น่าดูกว่า ก็คือทุเรียนจำนวนไม่น้อยที่ท่านผู้ปกครองนิคมสุคิริน คือคุณลุอี ฮาบิ จัดเตรียมมาจากบ้านตัวเองเพื่อรับรอง “นายนันต์” และ คณะ(นักกินทุเรียนเชื่อว่าต้องกินทุเรียนก่อนกินอาหาร) เริ่มด้วย ทุเรียนพื้นเมืองที่ท่านผู้ปกครองฯ บอกว่าเป็นทุเรียนที่บ้านของท่านเอง ที่ทุกคนในโต๊ะเมื่อได้ลอง “ชิม” กันคนละ “ยุม” แล้วก็ต้องตื่นตะลึงในรสและกลิ่นกันอย่างทั่วหน้า หลังที่ไม่เชื่อกันมาแล้วครั้งหนึ่งแล้วว่า “ทุเรียนบ้านอะไรที่ยวงใหญ่และเนื้อหนาเม็ดเล็กขนาดนี้” ทั้งคุณอนันต์หัวหน้าทีมและลูกทีม “ทัวร์สุคิริน” ครั้งนี้มีมติความเห็นร่วมกันหลังจากทานทุเรียนมื้อนั้นอย่างครึกครื้นในหัวใจว่า “ทุเรียนสุคิริน” สุดยอด!! และลงความเห็นร่วมกันในเวลาต่อมาว่า จะต้องหาช่องทาประกาศให้โลกนักกินทุเรียนได้รู้โดยทั่วกันว่า ทุเรียนทั้งชนิดพื้นบ้านและทุเรียนพันธุ์ ทั้งหมอนทอง ก้านยาว ชะนี ฯลฯของอำเภอสุคิริน ล้วนอร่อยเลอเลิศ สมแล้วกับการที่เป็นทุรียนซึ่งกรองกลั่นเอาแร่ธาตุทองคำที่กระจายตัวอยู่ทั่วถ้วนทั้งในภูเขาและแม่น้ำลำห้วยของแผ่นดินที่นั่นมาเพาะสร้างขึ้นเป็นดอกผล ใครบางคนถึงกับเรอออกมาเบาๆ(แต่มีกลิ่น)ได้ยินแผ่วๆว่า “เป็นทุเรียนล้ำค่าเหมือนทองคำจริงๆ”!!!