รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เริ่มต้นจัดทำและเผยแพร่ “ดัชนีการเมืองไทย” อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน โดยมีจุดเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่การเมืองไทยต้องมี “ดัชนีชี้วัด” ที่เป็นเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานซึ่งสามารถให้คำตอบกับสังคมได้อย่างชัดเจน..!!
เนื่องจาก “ดัชนีชี้วัด” (Indicator) โดยทั่วไปหมายถึงตัวแปร หรือกลุ่มของตัวแปรต่างๆที่จะวัดสภาวะอย่างหนึ่งออกมาเป็นปริมาณ และเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ทราบถึง ระดับ ขนาด หรือความรุนแรงของปัญหา หรือสภาพที่ต้องการวัด
สำหรับสังคมไทยการสร้างดัชนีชี้วัดทางการเมืองเป็นเรื่อง “ไกลตัว” ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ทั้งที่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าการเมืองแม้เป็นเรื่องของนโยบาย แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สังคม หรือแม้แต่เศรษฐกิจ
จากเหตุผลดังกล่าวถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้ดำเนินการจัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมืองไทย” ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล (Database) ประกอบการพัฒนาการเมืองไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าสถานการณ์ตลอดระยะเวลามากกว่า 14 ปีที่ผ่านมานั้น การเมืองไทยเต็มไปด้วยความสับสน วุ่นวาย ตลอดจนปัญหาความขัดแย้ง จึงทำให้ต้องยุติการสำรวจดัชนีการเมืองลง เพื่อลดกระแสความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง แต่ดัชนีการเมืองก็สามารถสะท้อนสถานการณ์ และปัญหาทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีการสำรวจ ตลอดจนสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไทยได้ไม่น้อย
ดังนั้น หลังอยู่ในอาการลุ่มๆ ดอนๆ มาหลายปี ณ วันนี้ คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยมีความนิ่งมากขึ้น (แม้จะเป็นความนิ่งแบบ “คลื่นใต้น้ำ...ภูเขาไฟรอวันระเบิด” ก็ตาม แต่ก็มีสภาพที่ดีกว่า “คลื่นเหนือน้ำ...ภูเขาไฟที่กำลังระเบิด” ..!!) จึงทำให้ “สวนดุสิตโพล” เห็นว่าเป็นระยะเวลาอันเหมาะสมที่จะ “ปัดฝุ่น” นำ “ดัชนีการเมือง” มาวัด “ชีพจรการเมืองไทย”
ดัชนีการเมืองไทยโดยมีตัวชี้วัดรวม 25 ประเด็น ทั้งการบริหารงานของรัฐบาล ฝ่ายค้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน บทบาทสื่อมวลชนและอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าการเมืองไทย ดีขึ้น แย่ลง หรือเหมือนเดิม โดยให้คะแนนเต็ม 10 และหาค่าเฉลี่ย ( ) ภาพรวมของการเมืองไทยออกมา ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ ได้สำรวจดัชนีการเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 2 แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,438 คน สรุปผลได้ ดังนี้
คะแนนเฉลี่ยภาพรวมของดัชนีการเมืองจากการให้คะแนนของ “ประชาชน” จำนวน 4,225 คน ซึ่งมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีอยู่ที่ 4.51 คะแนน (เรียกว่าถ้าเป็นการสอบ ก็ “สอบตก” แบบเห็นเห็น..!!) โดยจำแนกตามรายละเอียด 25 ตัวชี้วัด พบว่า ประเด็นที่ “ประชาชน” ให้คะแนนมากที่สุด คือ 1) การปฏิบัติงานของฝ่ายค้าน 5.92 รองลงมา ได้แก่ ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆให้ประชาชนได้รับรู้ 5.28 จริยธรรม /วัฒนธรรมของคนในชาติ 5.08 ความสามัคคีของคนในชาติ 4.91 การจัดการศึกษาสำหรับประชาชน 4.90
การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม 4.72 ความมั่นคงของประเทศ /การก่อการร้าย 4.70 ผลงานของนายกรัฐมนตรี 4.63 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 4.62 การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า 4.60 การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระ 4.57 ผลงานของรัฐบาล 4.56 การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 4.49 สภาพของสังคมโดยรวม 4.47 การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวม 4.38
การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล 4.23 ความเป็นอยู่ของ ประชาชน 4.19 การปฏิบัติตนของนักการเมือง /ความสามัคคีของนักการเมือง 4.09 สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม 4.09 การแก้ปัญหายาเสพติด 4.09 ค่าครองชีพ /เงินเดือน /ค่าจ้าง /สวัสดิการ 4.08 การแก้ปัญหาคอรัปชั่น4.01 การแก้ปัญหาการว่างงาน 4.01 การแก้ปัญหาความยากจน3.91 และ ราคาสินค้า 3.86
เมื่อพิจารณาจากภาพรวมคะแนนเฉลี่ยของ “ดัชนีการเมืองไทย” ที่มีคะแนนในระดับต่ำแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าใจหายไม่น้อย (หรือบางคนอาจจะแอบ “คัดค้าน” อยู่ในใจ หรือ “ไม่เชื่อ” ผลสำรวจที่ปรากฏก็คงไม่มีใครห้ามความคิดเหล่านั้นได้) แต่สิ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายฉุกคิดจาก “ตัวเลข” ที่ปรากฏ ก็คือ การประเมินสภาพการเมือง จากการสัมผัสจากสิ่งที่พบเจอ สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง โดยประชาชนที่อาศัยอยู่และเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นๆ อย่างแท้จริง
ผลของดัชนี อาจจะไม่ตรงใจ ไม่ถูกใจ หรืออาจจะไม่ใช่ดัชนีชี้วัดที่ดีที่สุดในสายตาของใครหลายคน แต่ดัชนีทั้งสองก็เกิดขึ้นจากการแสดงพลัง การตรวจสอบ และสะท้อนภาพความเป็นจริงด้านการเมืองและสังคมไทยในทัศนะของประชาชนกว่า 2,400 คน เพื่อสื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรับรู้ถึงโลกแห่งความเป็นจริงของการเมืองและสังคมไทย ณ วันนี้
สุดท้ายคงได้แต่หวังว่าข้อมูลจากประชาชนเหล่านี้ จะไม่เป็นเพียง “ข้อมูลที่ไร้น้ำหนัก”....
แต่ขอให้อย่าน้อยผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักการเมือง “รู้ร้อนรู้หนาว” กับคะแนนที่ปรากฏบ้าง...ก็เป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจสุดสุดแล้ว..!!