สถาพร ศรีสัจจัง
“สุคิริน” เป็นชื่ออำเภอๆ หนึ่งของ “เมืองคนดี” นราธิวาส เมืองปักษ์ใต้ชายแดนที่ต่อเขตกับเพื่อนบ้านคือมาเลเซียเลยทีเดียว มีเพียงภูเขาบาลูกากับภูเขาบาลาขวางกั้นอยู่เท่านั้น บางใครให้ฉายาเมืองชายแดนใต้แห่งนี้ว่า คือ “เมืองหมอกหนา งามป่าเขา” ค่าที่ทั้งเมืองล้วนตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาและอุดมด้วยป่าใหญ่ที่ยังสมบูรณ์โอบคลุมไว้เขียวชอุ่มทั้งเมือง ทั้งในส่วนที่เป็นป่าดิบสงวนเดิม และป่าไม้ผล ป่ายางพารา ที่เกิดขึ้นเพราะมือคนแต่เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
มีโอกาสติดตามคุณอนันต์ ดิสระ อดีตพัฒนาสังคมจังหวัดสงขลาไปเยี่ยมเยียนเมืองสุคิริน “ถิ่นขุนเขาและทองคำ” เมื่อไม่กี่วันก่อน ตื่นตะลึงกับสิ่งที่ได้พบเห็น ณ เมืองนี้เสียมากมาย มีหลายเรื่องที่อยากเล่าอยากบอกต่อ
คุณอนันต์บอกว่ามาที่นี่ครั้งนี้ เพื่อ “ทวนความหลังครั้งอดีต” อยากดูว่าสิ่งที่เคยเข้ามามีส่วนสร้างทำไว้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2520 เมื่อครั้งยังเป็นข้าราชการหนุ่มในตำแหน่ง “นักวิชาการเกษตร” ของกรมประชาสงเคราะห์(น่าจะเป็น “กองนิคมสร้างตนเอง”?) เมื่อถึงวันนี้จะก่อดอกออกผลหรือยังจะยั่งยืนอยู่บ้างอย่างไร
ได้รับการต้อนดับอย่างดีเยี่ยมจากบรรดาเจ้าหน้าที่นิคมสร้างตนเองสุคิริน(หน่วยงานนี้แหละที่เป็นหน่วยงานแรกซึ่งบุกป่าฝ่าดงเข้ามาสร้างเมืองนี้ขึ้น ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2506 โน่น)ภายใต้การนำของคุณลุอี ฮาบิ ชาวสุคิรินดั้งเดิมแท้ๆ ‘ลูกหม้อ’ กองนิคมฯซึ่งดำรงตำแหน่ง “ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองสุคิริน” คนปัจจุบัน
นอกจากจะได้รับความรู้ เกี่ยวกับเรื่องราวและที่มาที่ไปของเมืองนี้อย่างละเอียดแล้ว ยังได้รับการบริการทุกเรื่องอย่างน่าประทับใจยิ่ง ทั้งการส่ง “คุณอ๋อย” เจ้าหน้าที่นิคมฯเก่าแก่(เธอเล่าอย่างภูมิใจว่าเป็นลูกน้องคนสนิทของ “นายนันต์” มาก่อน) มาเป็นพี่เลี้ยงทีมเราทุกเรื่องทำให้สะดวกขึ้นมาก
งานนี้คุณอ๋อยผู้คล่องแคล่วและกว้างขวางในพื้นที่สุคิริน บริการทีมเราทั้งเรื่องการเป็นมัคุเทศน์นำชมแหล่งสำคัญของเมือง และลงครัวเป็นเชฟร่วมกับทีมแม่ครัวของนิคมฯปรุงอาหารอร่อยให้ทานทุกมื้อ
เริ่มที่อธิบายให้เรารู้ว่านาม “สุคิริน” นั้นได้รับความเมตตาพระราชทานชื่อจากองค์ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย ที่เมื่อครั้งกระโน้นพระองค์ท่านโปรดมาทรงงานที่เมืองนี้บ่อยๆและยาวๆ
จนผู้บุกเบิกสร้างเมืองคือหน่วยงานนิคมสร้างตนเองสร้างพระตำหนักทรงงานถวาย และพระองค์ทรงตั้งชื่อพระตำหนักว่า “สุคิริน” ซึ่งมีความหมายว่า “พันธุ์ไม้อันเขียวชะอุ่ม” กระทั่งกลายเป็นชื่ออำเภอต่อมา
คุณอ๋อยนี้เองที่เป็น “เนวิเกเตอร์’ นำคณะ “นายนันต์’ ของเธอไปชมแหล่งต่างๆตามที่คุณอนันต์ ดิสระอยากจะไป ขับรถจากที่ทำการนิคมฯผ่านไปบนเส้นทางราดยางท่ามกลางแวดล้อมของเรือกสวนและป่าดิบอุดมสมบูรณ์ราวสักครึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดเริ่มต้น คือศาลเจ้าแม่โต้ะโมะ/วัดโต้ะโมะ และภูเขาที่ตั้งเหมืองทองคำในอดีต ซึ่งตอนนี้มีเหลือร่องรอยให้เห็นเพียงถ้ำที่เจาะขุดไว้เพื่อเป็นลำรางในการลำเลียงสินแร่ทองคำออกมาจากภูเขา
พูดถึง “เหมืองทองคำโต้ะโมะ” แห่งนี้ นับว่ามีความเป็นมาที่น่าสนใจ ปัจจุบันเป็นเหมืองร้าง สักเมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ. 2574 เล็กน้อย มีชาวฝรั่งเศสคณะหนึ่งสำรวจพบแหล่งทองคำที่ภูเขาแห่งนี้ แล้วขอสัมปะทานทำเหมือง ก่อนที่จะเลิกร้างกลับบ้านกลับเมืองไปเพราะเกิด “สงครามมหาเอเซียบูรพา” หรือ “ญี่ปุ่นขึ้นเมือง” หลังจากเหตุการณ์นั้น ดูเหมือนทางการบ้านเมืองยุคจอมพล ป.พิบูลย์สงครามจะเข้ามาดำดำเนินการเอง และต้องเลิกร้างไปอีกครั้งเพราะเกิดการฉ้อฉลคอร์รัปชั่นภายใน และถูก “โจรปล้นเหมือง” เอาสินแร่ทองคำไปหมด
กรณีเหมืองทองโต้ะโมะนี้คงจะมีตำนานชีวิตของใครหลายใครเข้าไปเกี่ยวข้องไม่น้อย ในนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของนักเขียนลือนามชาวใต้ ผู้ได้รับยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์’ คือ “พนมเทียน” หรือท่านฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ อยู่ด้วยคนหนึ่ง ท่านผู้นี้เป็นชาว “เมืองสาย” หรืออำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีปัจจุบัน มาแต่กำเนิด ฟังมาว่า ช่วงหนึ่งบิดาของท่านคือ “ท่านขุนวิเศษสุวรรณภูมิ” เป็นผู้ได้รับสัมปะทานเหมืองทองแห่งนี้
เรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัย รวมถึง “ฉาก” ป่าเขา ในนวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ของ “พนมเทียน” ส่วนหนึ่ง ฟังว่า ก็มาจากป่าภูเขาแห่งเมือง “สุคิริน” นี่เอง!
นอกจากเรื่องความงดงามของธรรมชาติ คือป่าไม้และภูเขาแม่น้ำลำธารแล้ว สุดยอดของเมืองสุคิรินประการหนึ่ง ที่ใครมาแล้วต้องได้รับความอิ่มเอมประทับใจ ก็คือ “ผลไม้” ตั้งแต่ละไม จำปูหลิ้ง สะตอ ส้มแขก มังคุด ลองกอง และพระเอกของเรื่อง คือ “ทุเรียน”!
ไม่อยากลองกันบ้างหรือไร กับทุเรียนที่เติบโตงดงาม แตกดอกออกผลอยู่ริมธารน้ำที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรี ที่ฟังว่ายังมีแร่ธาตุทองคำให้ชาวบ้านได้ร่อนหาเก็บเกี่ยวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนบัดนี้ ที่ซึมซ่านแปรูปเป็นเนื้อในของทุเรียนเหล่านั้น ทั้งพันธ์พื้นเมืองที่เลอเลิศและทั้งหมอนทอง ก้านยาว ชะนี ฯลฯนั้นเป็นอย่างไร มีรสชาดอร่อยล้ำขนาดไหน
ตามมาเถอะ แล้วจะเล่ายั่วน้ำลายให้ฟังว่า “ทุเรียนสุคิริน” นั้นอร่อยล้ำเลอค่าเหมือน “ทองคำ” อย่างไร!!!