ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่ขยายบานปลายจนสร้างความเสียหายนั้น เหตุสำคัญมักจะมาจาก การที่สมาชิกในสังคมนั้น ๆ ขาด “ข้อมูล” และ “สติ”
เรื่องราวมักจะเริ่มต้นจาก “ข้อมูล”
มิใช่ขาดแคลนข้อมูล แต่เป็นปัญหาที่ผู้คน “เลือก” ที่จะฟังข้อมูลเฉพาะด้าน คือเฉพาะเรื่องที่ตนพอใจ
แล้วเมื่อหลงติดกับข้อมูลนั้น ๆ แล้ว แนวคิดหรือทัศนะก็จะมีอคติ เมื่อความขัดแย้งแรงขึ้น ก็ง่ายที่จะเกิดอารมณ์ ขาด “สติ” ยั้งคิด
ประเด็นขัดแย้งทางสังคม มันจะเป็น “ไฟ” หรือไม่ ก็ขึ้นกับ “สติ” และ “ธรรมะ” ของคน
ยิ่งถ้าปัญหาถูกลากดึงไปผูกโยงกับปัญหาทางการเมือง เรื่องราวก็บานปลายขยายได้ง่าย เพราะธรรมชาติของการเมืองคือการต่อสู้ !
แต่คนไทยมักลืมไปว่า การต่อสู้ทางการเมืองนั้นคือการต่อสู้เพื่อธรรม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อตนเอง
เวลาเกิดปัญหาที่นึกว่าโยงใยกับการใองจึงมักจะเกิดอารมณ์รุนแรงขาดสติได้ง่าย
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เตือนสติผู้คนเรื่อง “ธรรมที่พึงปฏิบัติในทางการเมือง” ธรรมะข้อสำคัญที่สุดคือเรื่อง “สติ” ท่านบอกว่า
“สติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นธรรมที่ควรจะรักษาที่สุดในทางการเมือง
นักการเมืองทุกคนจะต้องมีสติ
ขณะนี้เองกระผมมีความรู้สึกว่าสติของเราจะหลวม ๆ มีโกรธกัน เคียดแค้นกัน ด่ากันรุนแรง
มีพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขาดสติ...
ปัญหาการเมืองทุกอย่างมันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ หรือถึงจะแก้ไขไม่ได้ก็ควรใช้สติพิจารณา ไม่ใช่โวยวายไปตามอารมณ์ ไม่ใช่จะประณามกัน ด่าว่ากันจนเกินไปโดยขาดสติ มันจะทำให้เกดความเคียดแค้นเกิดพยาบาทอาฆาต ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ใครเลย””
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเล่าว่า ท่านรับมือความรุนแรงด้วยธรรมะ คือเมตตาธรรม ท่านสอนให้ “ดับไฟด้วยธรรมะ”
สถานการณ์บ้านเมืองต่อไปนี้ ยากจะคาดเดาได้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรบ้าง
รู้แต่ว่ามันร้อนระอุ ส่วนจะเป็น “ไฟ” หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “สติ” ของทุกฝ่าย
ในสถานการณ์ที่ร้อนระอุเป็นไฟนั้น “ธรรมะ” คือทางดับไฟหนทางเดียว