เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ปรองดองที่เห็นเป็นข่าว ดูเหมือนเป็นเรื่องการหาทางแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าเรื่องอื่นใด กลายเป็นเรื่องเอาเหลืองแดงมาสมานฉันท์ เชื่อว่าถ้าดีกันเมื่อไร ประเทศไทยจะรุ่งเรืองพัฒนา
จริงอยู่ สิบกว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยเห็นได้ชัดเจนทางการเมือง แต่เราก็เห็นความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในหลายประเทศ กระนั้นผู้คนก็ยังมีปัญหาอีกร้อยแปด ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง
ถ้าคิดว่าสังคมไทยเป็นระบบที่ทุกภาคส่วนสัมพันธ์กัน ปรองดองแบบแยกส่วนอาจจะเกิดได้ สั่งได้ ”จับเป็นตัวประกัน” ได้ แต่ยั่งยืนหรือไม่เท่านั้น อาจเหมือนแพทย์ที่รักษาโรค แต่ไม่รักษาคน ระบบสุขภาพไม่ดี ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ คงเจ็บป่วยเป็นนั่นนี่ไม่มีวันหาย กลายเป็นการเลี้ยงไข้ไปก็มาก
คนไทยเป็นหนี้กันมากมาย ทั้งในระบบและนอกระบบแบบสุดโหดและหาทางออกไม่ได้ ชาวไร่ชาวนาที่ยังเหลืออยู่ในชนบทเวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สินและความยากจนแบบซ้ำซาก
สังคมไทยคิดว่า การปรองดองทางเศรษฐกิจที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ 2504 ที่มีแผนพัฒนาฯ แผนที่ 1 คือ ทำให้คนจำนวนน้อยรวยก่อน แล้วก็จะดึงคนส่วนใหญ่ให้รวยตามไปด้วย ตามทฤษฎีการพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม (Unequal Development Theory)
แล้วเกิดอะไรขึ้น ผ่านไป 55 ปี 11 แผน ประเทศไทยอยู่อันดับ 3 ของโลกที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนไทย 99% มีสินทรัพย์ไม่ถึงร้อยละ 30 ขณะที่คนไทยเพียง 1% มีมากกว่าร้อยละ 60
กว่า 40 ปี เรามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ไม่สามารถหาทาง “ปรองดอง” กับ “ทุนนิยม” ได้ ทำได้เพียงเอาคำสอนอันล้ำค่าของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นไม้ประดับที่สวนที่ปลูกแต่เพียงพืชเศรษฐกิจ หรือเปรียบเทียบให้แย่กว่านั้น คือ ทำได้เพียงเอามาเป็นดอกไม้ในแจกันประดับโต๊ะผู้บริหารบ้านเมือง
ไม่ได้คิดหาทางพัฒนา “เศรษฐกิจตลาดแบบพอเพียง” (Sufficient Market Economy) คล้ายกับที่จีนคิดและทำ “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) สังคมไทยจึงวิ่งไล่เงา เอาเป็นเอาตายกับ GDP ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่า GDH หรือความสุขของประชาชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่-เทพา เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่รัฐบาลไทยปากว่า (GDH) ตาขยิบ (GDP)
ทางด้านสังคม ประเทศไทยมีกฎหมายกว่าหมื่นฉบับที่รอการแก้ไข มีการวิจัยพบว่า สามารถยกเลิกและแก้ไขกฎหมายหลายพันฉบับที่ล้าหลัง ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบ สร้างโอกาสที่ไม่เท่าเทียม คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลงเพราะขาดโอกาสการศึกษากับการพัฒนาตน จนถึงวันนี้ยกเลิกได้แก้ได้กี่ฉบับก็ไม่รู้
การปรองดองทางสังคมจึงหมายถึงการสร้างความเท่าเทียมในโอกาส ความเท่าเทียมทางกฎหมายที่เป็นจริง ไม่ทำให้ผู้คนเชื่อว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” หรือ “ขังแพะ” หรือทำให้เกิดประโยคคำถามเสียดสีอย่างเจ็บแสบที่ว่า “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ”
การปรองดองทางสังคมเกิดขึ้นได้เมื่อผู้คนได้รับสวัสดิการ ความมั่นคงในชีวิต ด้วยระบบที่ให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยาคุณภาพต่างกัน คนจนได้ยาดีน้อยกว่าคนรวย หรือคนจนรอรับแต่เพียง “เศษเนื้อข้างเขียง” ที่สังคมหยิบยื่นให้ในรายการแจกเงิน ขึ้นรถโดยสารฟรี ฯลฯ
ไม่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ไม่กระจายงบประมาณ จึงรวยกระจุก จนกระจาย รวมศูนย์ทุกอย่างไว้ส่วนกลาง ความเหลื่อมล้ำชัดเจนระหว่างเมืองกับชนบท คนจึงทิ้งชนบทเข้าเมืองไปตายเอาด้าบหน้า
การปรองดองทางวัฒนธรรม คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อคนจน คนยากไร้ คนชายขอบ คนพิการ บ้านนอกคอกนา ชาวเขาชาวดอย ซี่งมักถูกดูถูกดูแคลน และการให้โอกาสคนเหล่านี้ให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีงานทำ มีรายได้ และได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม
ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงหลายปีที่ผ่านมา จนถูกอ้างเป็นเหตุผลของการทำรัฐประหาร เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาสังคมไทยที่หมักหมมมายาวนานและระเบิดเมื่อได้เวลา ปัญหาใหญ่กว่ายังอยู่ตราบใดที่ไม่ร่วมมือกันปฏิรูปสังคมอย่างรอบด้าน (หรือใช้คำโตๆ ว่า แบบบูรณาการ)
การปรองดองที่เป็นการปฏิรูปสังคมอย่างรอบด้าน เริ่มจาก “หลักคิด” ที่เป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนไม่ใช่ เกี๊ยะเซียะรอมชอมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นการปรองดองที่ “เห็นหัวประชาชน” หรือให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ “นักการเมือง” กับ “นายทุนพ่อค้า” มาก่อนอย่างที่ทำกัน
ไม่ใช่เพียงอ้างอิง แต่นำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้จริง ที่ทรงสอนให้ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยเฉพาะ “ประชาชน คนยากคนจน คนชายขอบ”
พัฒนาระบบ “เศรษฐกิจตลาดแบบพอเพียง” ปฏิรูปกฎหมายให้เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำลด การปรองดองก็เกิดได้ เพราะเกิดจาก “ข้างใน” ไม่ใช่การบังคับหรือการต่อรอง