ทีเส็บและพันธมิตรด้านไมซ์ร่วมกันสะท้อนมุมมองในงานเสวนาพิเศษ New Chapter of Thailand MICE ชี้ก้าวใหม่ไมซ์ประเทศไทย หัวใจสำคัญคือต้องเข้าใจเทรนด์ความคาดหวังใหม่ ๆ ของผู้บริโภค และสร้างแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้ตอบโจทย์คุณค่าในใจของกลุ่มนักเดินทาง โดยการดึงซอฟต์และฮาร์ดพาวเวอร์ในประเทศมาใช้ ขณะที่การเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ปลายปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการปักหมุดประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติบนแผนที่โลก นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้กล่าวว่า หลังการประกาศผ่อนคลายการเข้าประเทศของรัฐบาลช่วงต้นเดือนพฤษภาคมน่าจะมีนักเดินทางต่างชาติเข้ามามากขึ้น พร้อมกับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่อนาคต ซึ่งจากการศึกษาผลงานวิจัยในต่างประเทศถึงเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนิวนอร์มัล พบว่าสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง แบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ คือ 1. Phygital (Physical Digital) ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมงานที่ต้องการเชื่อมโยงการจัดงาน ณ สถานที่จริงและออนไลน์ทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกัน 2. A Safe Space ความคาดหวังด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่สูงขึ้นตลอดการเข้าร่วมงาน เพราะถึงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ผู้คนก็ยังคงกังวลกับการกลับมาแพร่ระบาดของโรค 3. Embedded Wellness ความคาดหวังให้ผู้ประกอบการใส่ใจและตระหนักถึงสุขภาพกายและใจของผู้เข้าร่วมงานเป็นหลัก 4. Omnibility ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมงานถึงความเสมอภาค โดยผู้ประกอบการควรต้องออกแบบด้วยแนวคิดอารยสถาปัตย์ เช่น สถานที่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ และ 5. Brand Butlers ความคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ที่ตรงใจและดียิ่งขึ้น จากการเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดจากการเข้างานหรือใช้บริการในอดีต “สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ของอนาคตที่อุตสาหกรรมไมซ์จะต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้จัดงานและนักเดินทางไมซ์ ขณะนี้ในต่างประเทศเริ่มมีแอปพลิเคชัน หรือ นวัตกรรมใหม่ที่มาช่วยบริหารจัดการการเดินทาง สำรองที่นั่งสายการบิน จองโรงแรม หรือ การให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มที่มีความต้องการเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดูแลนักเดินทางผ่านระบบออนไลน์ตามข้อมูลที่แสดงความต้องการเป็นรายบุคคลได้มากขึ้นแล้ว ในประเทศไทยก็เริ่มมีสตาร์ตอัปที่กำลังพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมารองรับเช่นกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างความประทับใจ และกระตุ้นให้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง” นายจิรุตถ์ กล่าว ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไมซ์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และ APEC คือเวทีสำคัญทางด้านการจัดประชุม การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการและคณะทำงานต่างๆ มากกว่า 60 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 20,000 คน เป็นการประชุมในด้านต่างๆ ที่สำคัญทั้งการพาณิชย์ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน รวมถึงการประชุมคู่ขนานของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีการวางแผนจะจัดการประชุมตลอดทั้งปีให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศ และกระจายสถานที่จัดประชุมไปตามภูมิภาคต่างๆ “APEC 2022 ถือเป็นงานประชุมทางกายภาพเป็นครั้งแรกหลังจากช่วงโควิดเริ่มคลายตัว งานนี้จะเป็นจุดสนใจที่ทำให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่บนแผนที่โลก และเข้ามาอยู่บนจอเรดาร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเขตเศรษฐกิจรวมกัน คิดเป็น GDP มากถึงจำนวนครึ่งหนึ่งของโลก” นายธานี กล่าว ทั้งนี้ นายธานี กล่าวต่อว่า การเป็นเจ้าภาพงานประชุม APEC ของไทย มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนภูมิภาค APEC สร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สู่สมดุลยั่งยืน โดยมีแนวคิด BCG Economy Model เป็นพื้นฐาน ส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ ขณะที่ นายดลชัย บุณยะรัตเวช ผู้เชี่ยวชาญการสร้างแบรนด์และผู้วางแผนภาพลักษณ์ไมซ์ไทย กล่าวว่า การจะทำให้ไมซ์ไทยเดินสู่ก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมและมีความยั่งยืน ต้องวางกลยุทธ์แบรนด์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งก่อนที่จะมีการสร้างกลยุทธ์ แบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศ THAILAND MICE: Meet the Magic ได้มีการศึกษาถึงความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมาย และพบว่าผู้บริโภคยุคนิวนอร์มัลมีสิ่งที่คาดหวังจากไมซ์ประเทศไทย 3 ประการ คือ ความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) ความจริงใจ (Sincerity) และความเป็นไทย (Authenticity) ดังนั้นการสร้างแบรนด์ไมซ์ประเทศไทยเพื่อให้ชัดเจนในความรู้สึกของกลุ่มนักเดินทางต่างชาติ จะต้องมีการยกระดับคุณค่าที่มีอยู่ให้สูงขึ้น และทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก ซึ่งต้องประกอบด้วยคุณค่าที่โดดเด่นของตนเอง และคุณค่าที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ไมซ์ประเทศไทยมีคุณค่าในการเป็นนักประสานความคิดที่ดีมาก ด้วยพรสวรรค์ ทรัพยากรที่หลากหลาย และความยืดหยุ่นในการทำงานของไทยที่สามารถประสานตามความต้องการของนักเดินทางไมซ์จากธุรกิจที่หลากหลาย และส่งต่อคุณค่าที่โดนใจให้คู่ค้า นักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจึงสามารถสร้างเสน่ห์ที่แตกต่างให้กับธุรกิจของตัวเองได้ในประเทศไทย ซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีทั้งซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องวัฒนธรรม อาหาร ศิลปะ ฯลฯ แต่ยังรวมถึงอุปนิสัยความเป็นธรรมชาติของคนไทย และฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) ได้แก่ โครงสร้างสาธารณูปโภคที่ดีมีมาตรฐาน ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยีทัสมัย เป็นต้น ที่ผสมผสานกันได้อย่างสมดุลอยู่ในเมืองไทย ทำให้สามารถสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางไมซ์ในแต่ละธุรกิจได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ผมเชื่อว่านี่คือก้าวใหม่ของไมซ์ประเทศไทย ในการเป็นพันธมิตร สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับธุรกิจผ่านการผสมผสานความคิด สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมไมซ์รูปแบบต่าง ๆ ให้มีมนต์ขลังที่ไม่จบสิ้น เป็นเสน่ห์เฉพาะของเราซึ่งจะหาได้ในประเทศไทยประเทศเดียว พร้อมกันนี้ นายจิรุตถ์ ยังกล่าวต่อว่า ทีเส็บวางแผนการสื่อสารแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศ ที่จะเปิดตัวครั้งแรกในงาน IMEX Frankfurt 2022 วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ให้เข้าถึงจำนวนการรับรู้กลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ 25 ล้านคน เพื่อกระตุ้นตลาดต่างประเทศเต็มที่ ตอบรับการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยตอนนี้ตัวเลขนักเดินทางไมซ์ของ 2 ไตรมาสแรก เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้คือเป็นนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศทั้งหมด 2.3 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 7,598 ล้านบาท และในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีคาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้ามาประมาณ 130,000 ราย จำนวนรวมนักเดินทางไมซ์ทั้งไทยและต่างชาติ รวม 6,130,000 ราย คิดเป็นรายได้ 28,400 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าปี 2565 ที่วางไว้ในระดับ Best Case