ชาวนาบรบือ มหาสารคาม แห่เข้าร่วมโครงการแก้ดินเค็มของ พด. หลังเห็นผล ดินดี ข้าวงาม พร้อมส่งเสริมปลูกปอเทืองพืชปุ๋ยสด บำรุงดิน นายสมพร แสนมาตร ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหอกลอง ต.หนองสิม อ.บรบือ จ.มหาสารคาม กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่ ต.หนองสิม เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทำนาในพื้นที่ดินเค็มจะได้ผลผลิตข้าวค่อนข้างต่ำ ประมาณ 100-200 กก.ต่อไร่ ขณะที่บางรายอาจไม่ได้ผลผลิตเลยเพราะข้าวที่ออกรวงเป็นรวงขาวไม่มีเมล็ด บางทีก็เมล็ดลีบไม่สมบูรณ์ ขายไม่ได้ราคา ที่ผ่านมาเกษตรกรจะหาวิธีปรับปรุงบำรุงดินเอง ทั้งใช้ปุ๋ยหมัก มูลวัว มูลควาย แกลบดำ กากมันสำปะหลัง ซึ่งช่วยได้บาง แต่เกษตรกรบางรายที่อยู่ในพื้นที่ดินเค็มจัดก็เปลี่ยนมาทำนาเกลือ ต้มเกลือขายก็มี จากนั้น กรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย ที่บ้านหอกลอง เจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม ได้มาถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงดินเค็ม และมาช่วยปรับแปลงนาให้มีเนื้อที่สม่ำเสมอกันจะขังน้ำได้ดี ร่วมกับส่งเสริมการปลูกปอเทืองพืชปุ๋ยสด หว่านแล้วไถกลบ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ขณะที่ทำคันนาให้กว้างขึ้นเพื่อปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม เช่น กระถินณรงค์ และยูคาลิปตัส ซึ่งปีแรกที่เข้ามาทำโครงการมีเกษตรกรเข้าร่วม 20 กว่าราย ปีแรกเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่กล้าทำ เพราะคิดว่าปรับที่นาต้องมีการขุดดินข้างล่างขึ้นมาเขากลัวว่าความเค็มจะยิ่งขึ้นมาส่งผลกระทบต่อพืชที่ปลูก แต่พอทำตามเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน ปรากฏว่าดินเริ่มฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ข้าวที่ปลูกเมล็ดข้าวสวย เต็มเมล็ด ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 300-400 กก.ต่อไร่ พอเห็นผลดี ปีต่อมาเกษตรกรสนใจมากขึ้นอยากจะเข้าร่วมโครงการทุกคน แต่ด้วยงบประมาณของรัฐที่จำกัดทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมได้ทุกคน ต้องทำเป็นแปลงสาธิตให้ดูเป็นต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในที่นาของตนเอง อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ที่กรมพัฒนาที่ดินเข้ามาดำเนินการเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ในพื้นที่บ้านหอกลองเข้าร่วมโครงการนี้เป็นปีที่ 2 จึงยังไม่เห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจน เพราะปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งปลูกข้าวไม่ได้ ส่วนยูคาลิปตัสบนคันนาเพิ่งปลูกยังตัดขายไม่ได้ แต่สิ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นคือ ดินเริ่มดีขึ้นสามารถปลูกข้าวได้ (ถ้ามีน้ำ) ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินเข้ามาสนับสนุนให้ทั้งความรู้ ปัจจัยการผลิต สารเร่ง พด. เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้ปัญหาดินเค็มบรรเทาลงได้ เกษตรกรจะได้ใช้ที่ดินทำการเกษตรหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคง