ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ความตระหนักรู้ในชีวิตของมนุษย์ เริ่มต้นขึ้นที่ภายในจิตวิญญาณของการหยั่งเห็นอันลึกซึ้ง ด้วยตัวตนที่ใฝ่รู้ ด้วยพลังอำนาจของการสังเกตเห็นโลกภายใน ด้วยภาวะแห่งการเฝ้ามองตนเองโดยไม่หลบตา สาระแห่งการประจักษ์แจ้งในลักษณะนี้คือการใคร่ครวญถึงแก่นแท้แห่งตัวตนอันมีค่า ที่สามารถสร้างทิศทางแห่งการดำเนินชีวิตให้ก้าวไปเบื้องหน้าอย่างมั่นคงและถาวรโดยแท้” ...รากฐานแห่งความคิดอันชวนไตร่ตรองเบื้องต้น คือที่มาแห่งหนังสืออันงดงามต่อการรับรู้ หนังสือที่ผูกร้อยด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและท่าทีอันเป็นธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อการตื่นรู้ซึ่งเกี่ยวเนื่องโยงใยถึงกันดั่งฝันซ้อนฝัน...แน่นอนว่าเมื่อคนเราตระหนักรู้ การตื่นรู้จึงปรากฏขึ้นในชีวิตของคนเราทุกคน เหมือนดั่งเมฆหมอกที่สลายยามแสงตะวันสาดส่อง... AWARENESS/คนไม่รู้จักตัวเอง..ผลงานสร้างสรรค์ของ “แอนโทนี เดอ เมลโล” (Anthony de Mello) ชาวอินเดียแท้..อดีตผู้อำนวยการสถาบันสาธนา ..สถาบันให้คำปรึกษานักบวชในเมืองปูเน่ ประเทศอินเดีย และเป็นสมาชิกของคณะเยซูอิตในเมืองบอมเบย์...ผู้มีผลงานทางด้านภาวนา การบรรยาย และการเสวนาทางจิตวิญญาณอันเลื่องชื่อ ด้วยการเดินทางบรรยายไปทั่วโลก..สื่อแสดงแง่คิดเพื่อสามารถสร้างคุณค่าของตัวตนแห่งตนขึ้นมาด้วยความรัก ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง... “คุณรู้สึกอย่างไรเวลาสัมผัสธรรมชาติ หรืออยู่กับงานที่รัก หรือเวลาพูดคุยฉันเพื่อนจริงๆ อย่างเปิดกว้างและสนิทสนมแต่ไม่ยึดติด ลองเปรียบเทียบความรู้สึกเหล่านั้นกับความรู้สึกในเวลาที่ชนะการโต้แย้ง เวลาชนะการแข่งขัน เวลามีคนมานิยมชมชอบ หรือเวลาที่ทุกคนปรบมือให้...ความรู้สึกอย่างหลังผมเรียกว่าความรู้สึกทางโลก แต่ความรู้สึกก่อนหน้าผมเรียกว่าความรู้สึกทางจิตวิญญาณ” ...คำอธิบายสำคัญตรงส่วนนี้ “แอนโทนี” ได้ขยายความอย่างชัดแจ้งว่า แท้จริง..ผู้คนจำนวนมากต่างได้โลกมา แต่แล้วกลับสูญเสียจิตวิญญาณไป เหตุนี้ผู้คนจำนวนมากในปัจจุบัน จึงมีชีวิตอยู่อย่างว่างเปล่าไร้จิตวิญญาณ ทั้งนี้เพราะพวกเขากำลังป้อนตัวเองด้วยความนิยมชมชอบ คำสรรเสริญเยินยอ และด้วยทัศนคติ “ฉันดี คุณก็ดี”..มองฉันสิ สนใจฉันสิ สนับสนุนฉันสิ เห็นค่าฉันสิ...ด้วยการเป็นเจ้านาย มีอำนาจ ชนะการแข่งขัน... “คุณป้อนตัวเองด้วยสิ่งเหล่านี้ใช่ไหม ถ้าใช่ คุณก็ตายแล้ว คุณสูญเสียจิตวิญญาณไปแล้ว จงป้อนตัวเองด้วยสิ่งหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้มากกว่านี้ แล้วคุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลง...” คำสอนของ “แอนโทนี” เป็นดั่งโปรแกรมชีวิตให้เราฝึกปฏิบัติ...มันคือการปลุกตื่นตัวตนแห่งจิตวิญญาณ ให้บรรลุถึงข้อตระหนัก...ด้วยการตั้งคำถามที่แทรกลึกลงไปในการดำรงอยู่ด้วยความหมายของแต่ละผู้คน คำถามสำคัญ ณ ที่นี้...คือคำถามที่คอยตอกย้ำว่า..ใครที่อยู่ในตัวเรา ? และเรารู้สึกตกใจไหมเวลาได้รู้เช่นนี้...เราต่างคิดว่าเราเป็นอิสระ แต่บางที ท่าทาง ความคิด อารมณ์ ทัศนคติ และความเชื่อในตัวเราอาจมาจากคนอื่นทั้งสิ้น... “แอนโทนี”ได้เน้นย้ำเชิงความคิด ถึงประเด็นสำคัญแห่งชีวิตของทุกคนตรงส่วนนี้ว่า... “ไม่น่าตกใจเลยหรือ แต่คุณไม่เคยรู้เลย ถ้าพูดถึงชีวิตจักรกลที่ติดตัวคุณมา เวลาคุณรู้สึกอย่างแรงกล้ากับอะไรสักอย่าง และคุณคิดว่านั่นคือคุณ แต่ใช่คุณจริงๆหรือ...มิติดั่งนี้ อาจต้องอาศัยความตระหนักรู้มากทีเดียว เพื่อให้คุณเข้าใจว่าบางทีสิ่งที่คุณเรียกว่า “ฉัน” จักเป็นเพียงการวางเงื่อนไขและโปรแกรมหลายๆอย่างในตัวคุณเท่านั้น” “แอนโทนี”..ได้แสดงทัศนะและยืนยันว่า..แท้จริงสิ่งที่เขาคิดและทำเพื่อเป็นคำสอนต่อการเรียนรู้ของผู้คนส่วนใหญ่นั้นเป็นทฤษฎี ซึ่งเทียบไม่ได้กับความจริง แต่เป็นสิ่งที่ปิดกั้นความจริง...ซึ่งเขาได้ย้ำว่า..เขาอธิบายได้ แต่เขาอธิบายความจริงไม่ได้ เพราะไม่มีใครทำได้ “ทั้งหมดที่ผมทำได้ คือการอธิบายว่า ความเชื่อผิดๆคืออะไร เพื่อให้คุณละวางจากมัน ผมทำได้แค่ท้าทายความเชื่อและระบบความเชื่อที่ทำให้คุณไม่มีความสุข ทำได้แค่ช่วยให้คุณได้เข้าใจอะไรเสียใหม่ ในวิถีแห่งจิตวิญญาณ..การเรียนรู้คือการเลิกเชื่อทุกสิ่งที่คุณถูกสั่งสอนมา และยินดีที่จะรับฟังเพื่อแก้ความเข้าใจผิด” คำอธิบายนี้ชี้ให้เราได้หยั่งเห็นว่า...เรากำลังฟังอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำ...คือทำอะไรก็ตามเพียงเพื่อยืนยันถึงสิ่งที่เรากำลังคิดอยู่เท่านั้น...แต่หากถ้าลองสังเกตปฏิกิริยาของตัวเองตามหลักคิดที่ “แอนโทนี” พูดก็จะพบว่า..เราจะต้องรู้สึกเสียความมั่นใจ ตกใจ รำคาญ หงุดหงิด หรือไม่พอใจ หรือไม่เช่นนั้น เราก็จะพูดออกมาอย่างเคยชินและไร้สาระว่า.. “มันเยี่ยมเลย” “แต่...คุณฟัง เพื่อยืนยันในสิ่งที่คุณคิดอยู่ หรือฟังเพื่อพบสิ่งใหม่ล่ะ นั่นคือสิ่งสำคัญ...มันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่หลับอยู่ ขนาดพระเยซูทรงประกาศข่าวดี ก็ยังถูกปฏิเสธ ไม่ใช่เพราะเป็นข่าวดี แต่เพราะเป็นสิ่งใหม่ เพราะเราเกลียดอะไรใหม่ๆต่างหาก ยิ่งเราเผชิญหน้ากับความจริงได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น/ เราไม่อยากได้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะสิ่งใหม่ที่กวนใจคุณ” ประเด็นสำคัญตรงส่วนนี้สามารถโยงใยไปถึงนิยามของการใฝ่หาความสุขอันควรตระหนักรู้ถึงความจริงแท้ได้อย่างคล้ายเหมือนกัน/ “แอนโทนี” ได้แสดงท่าทีผ่านทัศนคติเพื่อการตระหนักรู้ในวิถีแห่งสัจจะนี้มาโดยตลอดว่า...จริงๆแล้ว คนเราไม่ได้อยากมีความสุข แต่เราอยากได้อย่างอื่นหรือจะพูดให้ถูกก็คือ..เราไม่ได้อยากมีความสุขที่ไร้เงื่อนไข แต่เราพร้อมจะมีความสุขเมื่อมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ...“แต่จริงๆ คุณจะบอกเพื่อน พระเจ้า หรือใครๆว่า...คุณคือความสุขของฉัน ถ้าฉันไม่มีคุณ ฉันก็ไม่อยากมี/ความสุข สำคัญมากที่คุณต้องเข้าใจว่า เราไม่เคยคิดฝันว่าจะมีความสุขที่ไร้เงื่อนไขได้ ไม่ผิดแน่ ถ้าเรานึกภาพไม่ออกว่าเราจะมีความสุขโดยปราศจากโดยปราศจากเงื่อนไขพวกนั้น..เราถูกสอนมาว่า นั่นคือแหล่งความสุขของเรา “นั่นคือสิ่งแรกที่เราต้องทำ ถ้าเราอยากตื่น เช่นเดียวกับว่าถ้าเราอยากมีความรัก อิสรภาพ ปิติสุข สันติสุข รวมถึงวิถีแห่งจิตวิญญาณ/ เมื่อมองในแง่นั้น...วิถีแห่งจิตวิญญาณจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดในโลกอันกว้างใหญ่นี้...มันไม่ใช่การเคร่งครัดในศาสนา ไม่ใช่การยึดมั่นในศรัทธา ไม่ใช่การเลื่อมใสใดๆ ไม่ใช่การสักการบูชา แต่คือการตื่นต่างหาก” โดยความจริงที่ปรากฏ ทุกที่ทุกทาง ณ วันนี้...ล้วนเต็มไปด้วยความโศกเศร้า และคนที่โศกเศร้า เปลี่ยวเหงา หวาดกลัว สับสน ขัดแย้งในหัวใจ ทั้งที่แสดงออกมาและไม่แสดงออกมา...เมื่อเป็นเช่นนี้ สมมติว่ามีใครบอกวิธีขจัดสภาวะเหล่านั้นออกไป สมมติว่า มีใครบอกวิธีทำให้คุณไม่ต้องเสียพลังงาน เสียสุขภาพ และเสียอารมณ์ ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งและความสับสน...”แอนโทนี”ได้ถามไถ่อย่างย้ำๆว่า “คุณอยากได้ไหม หากสมมติว่า มีใครแสดงให้เราเห็นหนทางที่เราจะรักกันและกันได้อย่างแท้จริงจนพบสันติสุขและความรักในตัวเอง แล้วคุณยังคิดว่าสิ่งอื่นจะมีประโยชน์กว่าอีกหรือ?../ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนที่คิดว่าธุรกิจใหญ่โต การเมือง และวิทยาศาสตร์มีประโยชน์มากกว่า /เช่นเดียวกับว่า..การพาคนอพยพไปดวงจันทร์จะเกิดประโยชน์อะไร? ในเมื่อบนโลกนี้ยังมีชีวิตอยู่กันไม่ได้ บทสรุปอันสำคัญของ”แอนโทนี”และถือเป็นเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดที่สุดของหนังสือเล่มนี้ จึงอยู่ที่นัยเปรียบเปรย..ในความเป็นชีวิตกับสิ่งใหม่ๆในความเป็นความจริงแท้ที่เกิดขึ้น...นั่นคือ “ชีวิตคืองานเลี้ยง แต่ที่น่าเศร้าก็คือคนส่วนใหญ่กำลังจะอดตาย จริงๆนั่นคือสิ่งที่ผมอยากพูดถึง...มีเรื่องเล่าสอนใจเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ตายอยู่บนแพนอกชายฝั่งบราซิลเนื่องจากกระหายน้ำ พวกเขาคิดไม่ถึงว่าน้ำที่พวกตนลอยแพอยู่นั้นจะเป็นน้ำจืด สายน้ำที่ไหลลงทะเลแรงพอที่จะไหลไปได้ไกลถึงสองสามไมล์ บริเวณที่พวกเขาอยู่จึงมีน้ำจืด แต่พวกเขาคิดไม่ถึง ในทำนองเดียวกัน กับที่ชีวิตของพวกเราต่างรายล้อมไปด้วยความสุข ความเบิกบาน และความรัก แต่คนส่วนใหญ่คิดไม่ถึง เหตุผลก็คือพวกเขาถูกล้างสมอง ถูกสะกดจิต และหลับใหลไม่ได้สติ/ดั่งภาพของนักมายากลบนเวทีที่สะกดจิตคนให้เห็นในสิ่งที่ไม่มี และไม่เห็นในสิ่งที่มี...ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้...เหตุนี้ขอเราทุกคน จงสำนึกและรับข่าวดี/สำนึกสิ ตื่นขึ้นสิ อย่าร้องไห้เรื่องบาป ทำไมต้องร้องไห้เพราะบาปที่ก่อไว้เมื่อตอนคุณหลับใหลอยู่ คุณร้องไห้เพราะการกระทำตอนถูกสะกดจิตหรือ คุณจะอยากเป็นแบบนั้นทำไม?/ตื่นสิ ตื่นขึ้นสิ ตื่นขึ้นสำนึกสิ /คิดใหม่ และมองอะไรในแบบตนเอง”...นี่คือหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ผสานความเข้าใจทางจิตวิทยาให้เชื่อมเข้ากับคำสอนในทางจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ไม่รู้จักตัวเองได้รู้จักตนเองด้วยความเข้าใจแห่งการตระหนักรู้ในปัญญาญาณแห่งการรู้ตัวทั่วพร้อม...เพื่อส่งผลต่อการรู้จักตนเอง เลิกหลอกตัวเอง เท่าทันในกลไกของจิตใจ เป็นอิสระจากภาพลวงตาที่แวดล้อมชีวิต ที่สำคัญคือ..มันสามารถเปิดพื้นที่ภายในเพื่อให้ ความรักได้ผุดขึ้นในตัวเราอย่างเป็นกันเอง.. “ภัทริณี เจริญจินดา”ผู้ศึกษาผลงานของท่าน”ติช นัท ฮันห์”พระเซ็นชาวเวียตนามผู้สงบงาม /และเธอยังเป็นผู้ใฝ่รู้ศึกษาธรรมในหลากแขนง ผ่านทั้งวิถีแห่ง ปรัชญาและวิถีแห่งจิตวิทยา คือผู้แปลหนังสือเล่มนี้อย่างลึกซึ้ง ง่ายงามและเป็นที่เข้าใจ..ด้วยแรงบันดาลใจจากการตื่นรู้อันเป็นข้อตระหนักของหมุดหมายอันเป็นนิรันดร์ของชีวิตที่ว่า...”ก่อนเข้าถึงสัจธรรม ผมก็ยังรู้สึก หดหู่ ความแตกต่างคือ ผมไม่ได้เข้าไปยึดติดกับมันอีกแล้ว คุณรู้ไหมว่า..มันต่างกันมาก” จากบันทึกการบรรยายแบบคำต่อคำจากงานภาวนารวม4วันของ”แอนโทนี เดล เมลโล” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในครูทางจิตวิญญาณคนสำคัญของศตวรรษนี้ /แม้เขาจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 แต่คำสอนแห่งการปลุกตื่นและตระหนักรู้ของเขาก็ยังคงสร้างคุณค่าทั้งการสร้างสรรค์และปรับแต่งคนไม่รู้จักตนเอง ให้ได้หยั่งเห็นความหมายแห่งตัวตนอันแท้จริงอยู่เสมอ...มันคือพลังอันงดงามแห่งการทะลุทะลวง สู่ความพลิ้วไหวและปลุกเร้านัยชีวิตเพื่อการปลดปล่อยจิตใจจากพันธนาการ...ก่อนที่จะค้นพบและเข้าสู่สิ่งใหม่...ในนามของการใช้ชีวิตอย่างมีชีวิต...โดยแท้จริง.... “คนเราจักตระหนักรู้ได้...ก็เพราะเรามีชีวิต”