เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 นายพีรพันธ์ คอทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พร้อมด้วย นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสากรรมป่าไม้ และนายวิชัย อัศรัสกร กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารกรุงไทย พร้อมด้วย นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจด้านการบริหารจัดการองค์กร ปี 2562 (โครงการพี่เลี้ยง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการบริหารจัดการองค์กรในด้าน 1) การบริหารจัดการสารสนเทศ 2) การตรวจสอบภายใน และ 3) การบริหารความเสี่ยง เข้าสู่ระดับมาตรฐานของ ส.คร. ณ Innovation Lab (ชั้น 3) อาคารนานาเหนือ ธนาคารกรุงไทย การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ อ.อ.ป. และ ธนาคารกรุงไทย จะร่วมมือกัน สร้างความรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ทรัพยากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ อ.อ.ป. ทั้ง 3 ด้าน 1) ด้านการตรวจสอบภายใน: ร่วมมือจัดทำแนวทางการจัดทำดัชนีวัดผลงานของผู้ตรวจสอบภายใน, การจัดทำแผนการตรวจสอบ (Audit Program) และกระดาษทำการ ทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน รวมถึงการสอบทานทางเดินของงาน (Flow Chart), การระบุความเสี่ยง และจุดควบคุมในทางเดินของงาน (Flow Chart) อย่างครบถ้วน เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยง และประเมินความเป็นไปได้ของการเกิดทุจริตสำหรับการจัดทำแนวทางการตรวจสอบตามความเสี่ยง และการนำแนวความคิดเห็นของหน่วยรับตรวจมาปรับปรุงการจัดทำแผน การตรวจสอบประจำปี 2) ด้านการบริหารจัดการสารสนเทศ: ร่วมกันทบทวนแผนแม่บทสารสนเทศ และแนวทางการจัดทำศูนย์คอมพิวเตอร์สำรอง (DR Site) ของ อ.อ.ป., แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุน การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน รวมถึงแนวทางการจัดหาซอฟแวร์หรือพัฒนาระบบที่ใช้ตรวจสอบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการบริหารความเสี่ยง และแนวทางการจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITCP) ตลอดจนการทดสอบสถานการณ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับศูนย์คอมพิวเตอร์หลักตาม ITCP 3) ด้านการบริหารความเสี่ยง: ร่วมกันประเมินความเสี่ยง และจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk map) เพื่อให้ อ.อ.ป. สามารถประเมินความเสี่ยง โดยมีการกำหนดประเภท สาเหตุของความเสี่ยง และจัดทำแผนที่ ความเสี่ยง, การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ อ.อ.ป. สามารถกำหนดแนวทางตอบสนองความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม, การประเมินความเสี่ยงและควบคุมภายในด้วยตนเอง (RCSA) เพื่อให้พนักงานดำเนินการตามกระบวนการ RCSA ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำผลประเมินมาใช้บริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้, การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของพนักงาน เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงที่ต้องนำมาบริหารจัดการองค์กรในปัจจุบัน และการพัฒนาการบริหารความเสี่ยงในภาพรวม เพื่อพัฒนาการบริหารความเสี่ยงในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ อ.อ.ป. และ ธนาคารกรุงไทย คาดว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการองค์กรทั้ง 3 ด้าน เพื่อยกระดับการบริหารจัดการองค์กรเข้าสู่มาตรฐานของ ส.คร. และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป