วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี พร้อมคณะอนุกรรมการฯ สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎรด้านปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตคือแหล่งน้ำตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นเดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมกับนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์ จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารฯ ที่เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดย “ให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณคลองบ้านอำเภอ เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรมของราษฎรในพื้นที่และสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาของวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร พร้อมทั้งส่งเสริมด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณพื้นที่โครงการให้เป็นวนอุทยารักษาป่าและสัตว์ป่า” โดยเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรและพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2525 ถึง 2533 จำนวน 7 ครั้ง และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2528 ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงาน ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบฯ ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน เพื่อให้ครอบคลุมแนวแนวพระราชดำริ คือ1)ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง และโครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2)ด้านการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาอาชีพการเกษตร ได้แก่ งานพัฒนาที่ดิน งานชลประทาน ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และงานแปลงสาธิต/ศึกษา/วิจัยพืชเศรษฐกิจ 3)ด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยของประชาชน ได้แก่ โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม และโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และ4)ด้านการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารฯ และพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา หรือ (พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารฯ ได้ดำเนินงานในรูปแบบการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรธรรมชาติบนเนื้อที่ 29 ไร่ จำนวน 22 แปลง ปลูกพืชผักหมุนเวียน และจัดทำฐานการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ ฐานพืชผัก ฐานปุ๋ย ฐานสมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ฐานขยายพันธุ์พืช และฐานแปรรูปผลผลิตเกษตรกรรมธรรมชาติ นอกจากนี้ยังจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ให้กับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ฝึกอบรมการพัฒนาความรู้ด้านการเพาะเชื้อและผลิตเห็ดหลินจือแดงพันธุ์เกษตรธรรมชาติ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์หลักเกษตรธรรมชาติ และการฝึกอบรมแกนนำเกษตรกรขยายผลเกษตรธรรมชาติสู่ท้องถิ่น และการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรธรรมชาติ และยังได้จัดทำมาตรฐานเกษตรธรรมชาติ เพื่อให้การรับรองแก่เกษตรกรที่ทำการเกษตรตามมาตรฐานเกษตรธรรมชาติ ซึ่งมีเกษตรกรผ่านเกณฑ์มาตรฐานและได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 190 ราย โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ร่วมเพาะเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ธราธิป และเยี่ยมชมแปลงสาธิตเกษตรธรรมชาติ พร้อมพบปะเกษตรกรรับทราบชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ ช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานฯ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 มีพื้นที่รวม 193 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา เพาะเลี้ยง และพัฒนาพันธุกรรมสัตว์ป่าที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์และมีค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการรวบรวมพันธุกรรมของสัตว์ป่า เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ มีการศึกษาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเชิงอนุรักษ์ในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการให้บริการข้อมูลวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และนันทนาการสำหรับนักวิชาการ เยาวชน และประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่าที่มอบคืนแก่ทางราชการ  ปัจจุบันสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง มีสัตว์ป่าที่อยู่ในความดูแลทั้งหมด 21 ชนิด จำนวน 515 ตัว ส่วนมากเป็นสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่ เช่น ละอง-ละมั่งพันธุ์ไทย กวางป่า เนื้อทราย โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่สำคัญ คือ หมี ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 125 ตัว เป็นหมีควาย 103 ตัว หมีหมา 22 ตัว โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ปลูกต้นรวงผึ้ง และเยี่ยมชมการดูแลหมี ที่สถานีฯ ได้ดูแลไว้ จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังเขาชีจรรย์ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อนมัสการพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักลายเส้น ณ หน้าผาเขาชีจรรย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญประจำรัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชวินิจฉัยในการแกะสลักลายเส้นดังกล่าว พร้อมกับพระราชทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” อันมีความหมายว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่รุ่งเรื่องสว่างประเสริฐสุดเพียงมหาวชิระ โดยในการจัดสร้างพระพุทธรูปนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นประธานอำนวยการโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นรองประธานคณะกรรมการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใส่พระราชหฤทัยในการจัดสร้างพระพุทธรูปเป็นอย่างยิ่ง และทรงติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเบิกพระเนตรพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์