เมื่อวันที่ 27 ส.ค.62 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการในคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยภายในงาน “Thailand Focus 2019” ว่า สำหรับการประชุม ครม.เศรษฐกิจวันศุกร์ที่  30 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะพิจารณามาตรการกระตุ้นลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) , มาตรการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และเร่งรัดการลงทุนภาครัฐให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณาด้วย ทั้งนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา ด้วยการอนุมัติโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ถนน สนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า ควบคู่กับการเดินหน้าปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่อ ลดความซ้ำซ้อน ภายใต้เกณฑ์พื้นฐาน 3 ข้อ คือ ความชอบธรรมทางกฎหมาย, ความจำเป็นสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและความเป็นมิตรกับธุรกิจ     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงมาตรการประกันราคาข้าวว่า มีความแตกต่างจากจำนำข้าว และไม่ได้ใช้เงินที่สูงตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาข้าวถูก แต่ก็ต้องเตรียมไว้เพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่ใช่มาตรการที่ยั่งยืน อาจวางไว้ 1 ปี หรือบางอย่างแค่ 2 เดือน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหา ขณะที่ปีหน้าก็ต้องดูกันใหม่ โดยรัฐบาลต้องหาวิธีการที่เหมาะสม นอกจากนี้ยืนยันว่าจะไม่ทำอะไรให้เสียหาย และจะระมัดระวังอย่างที่สุด ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญใน 5 ปีที่ผ่านมา และต่อไปก็จะทำแบบเดิมอีก ส่วนจะมีการทุจริตในส่วนไหนหรือไม่ ก็ต้องไปดูกัน ซึ่งตนก็ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ในการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร โดยเป็นการจ่ายตรงเข้าบัญชี อย่างไรก็ตามขอร้องเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง     ส่วนข้อเรียกร้องให้เปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้กำลังตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาเปิดสองครั้ง โดยครั้งที่ 2 ได้มีการปลดล็อกบางอย่างให้คนเข้ามาได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์สุจริต ใครที่รู้ตัวว่ามีเงิน มีที่ดินและมีบ้านอย่าเข้ามาเลย เพราะจะทำให้คนอื่นเสียโอกาส     ด้าน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านราย สามารถมาลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 1,000 บาท ตามมาตรการชิมช้อปใช้ได้ด้วย เพราะไม่มีการจำกัดสิทธิ์ประชาชน โดยเปิดกว้างให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งไม่ได้มีการห้าม หรือจำกัดไม่ให้นำเงิน 1,000 บาท ที่รัฐบาลจะจ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง (จี-วอลเลต) นำไปซื้อสินค้าประเภทสุรา เบียร์ บุหรี่ โดยห้ามไม่ให้นำไปเติมน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น     อย่างไรก็ตามกรมได้เริ่มเปิดรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการชิมช้อปใช้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีร้านค้าทั้งที่อยู่ในส่วนร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดิม และร้านค้ารายใหม่ที่สนใจสมัครเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 1.3 แสนร้านค้า ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอรองรับการใช้งานจากประชาชน 10 ล้านราย ส่วนประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิมาตรการชิมช้อปใช้ รับเงินเป๋าตัง 10 ล้านคนนั้น ลงทะเบียนได้ทาง w ww.ชิมช้อปใช้.com ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-15 พ.ย.2562 (วัน/รอบละ 1 ล้านคน)       ทั้งนี้ เมื่อลงทะเบียนสำเร็จระบบจะยืนยันให้ทราบทันทีว่าลงทะเบียนสำเร็จ และจะแจ้งทางอีเมลให้ทราบอีกครั้ง ส่วนกรณีไม่สำเร็จ (กรณีรายที่เกิน 1 ล้าน) ระบบจะแจ้งให้ทราบว่าเต็มจำนวนสำหรับรอบวันนั้นแล้ว) และสามารถลงทะเบียนได้อีกครั้งในรอบถัดไป หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปตรวจสอบความถูกต้องกับกรมการปกครอง และภายใน 3 วัน ธนาคารกรุงไทยจะส่งเอสเอ็มเอสไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ หากไม่ถูกต้อง จะแจ้งให้ทราบกรณีที่ผิดพลาด ซึ่งสามารถลงทะเบียนใหม่ในรอบถัดไปได้ และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตัง เมื่อได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันการได้รับสิทธิตามขั้นตอน โดยจะมีระบบให้ยืนยันตัวตน หลังจากนั้นจะแจ้งวงเงิน 1,000 บาทในเป๋าตัง ช่องที่ 1 และเริ่มใช้งาน และจะมีเป๋าตังช่อง 2 เพื่อให้เติมเงินและนำไปใช้จ่าย และได้รับเงินชดเชย (แคชแบ็ก) 15% ของจำนวนเงินที่ใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,500 บาท จากวงเงินการใช้จ่ายไม่เกิน 30,000บาท      นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากการประเมินว่ามาตรการชิมช้อปใช้ วงเงิน 20,000ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% โดยเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.2562 พบว่าเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน โดยขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี     สำหรับการลงทุนภาคเอกชนก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 17.5% ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัว 0.8% ต่อปี และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 11.5% ต่อปี ส่วนยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวติดลบ 9.1% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 62.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า      ด้านภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.2562 ขยายตัว 4.7% ต่อปี คิดเป็น 3.33 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน โดยขยายตัวที่ 5.8% ต่อปี ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ อินเดีย ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท ขยายตัว 3.1% ต่อปี