"อรดี ธรรมเจริญ" เกษตรกรต้นแบบเมืองอุดร ปลูกพืชบนดินเค็มขายได้ทุกอย่าง ปลดหนี้ได้ ชีวิตดีขึ้น นางอรดี ธรรมเจริญ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มจังหวัดอุดรธานี เล่าว่า พื้นที่บ้านนาดี ต.พังงู อ.หนองหาน ประสบปัญหาดินเค็มมาก ตั้งแต่เกิดมาก็เจอกับพื้นที่นาที่มีแต่คราบเกลือขึ้น พ่อแม่ปลูกข้าวพื้นที่ 30 ไร่ ได้ข้าว 100 กระสอบ (กระสอบละ 30 กิโลกรัม) ดินไม่ดีก็ใส่ปุ๋ยมากขึ้น รวมทั้งต้องจ้างดำนา จ้างเกี่ยวข้าว และจ้างรถเอาข้าวไปขาย ทำให้ต้นทุนสูง แต่ข้าวที่ได้น้อยขายไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป จึงเป็นหนี้สินมากมาย พอทำนาไม่ได้ผลก็ทำนาเกลือ ต้มเกลือขายได้กิโลละ 10-15 บาท เอาเงินไปซื้อข้าวกิน จนกระทั่งปี 2557 สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี เข้ามาทำโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มที่ ต.พังงู เข้ามาให้ความรู้ สอนเรื่องการปรับปรุงดินเค็ม มาช่วยปรับแปลงนาให้สม่ำเสมอสามารถเก็บกักน้ำไว้ในแปลงนา มีคันนาที่กว้างขึ้นจะได้ปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม เช่น ยูคาลิปตัส กระถินออสเตรเลีย (อะคาเซีย) ตนและพ่อได้เข้าร่วมโครงการโดยลองทำตามวิธีและเทคโนโลยีที่กรมพัฒนาที่ดินแนะนำ ตอนแรกก็แบ่งพื้นที่ทำยังไม่ได้ทำทั้งหมด คือหลังจากปลูกข้าวก็ไถกลบตอซัง หว่านปอเทืองพืชปุ๋ยสด ไถกลบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากนี้ ยังทำปุ๋ยหมักจากขี้อ้อย เศษฟาง ต้นกล้วย ไว้ใช้ในแปลงนา ส่วนบนคันนาก็ปลูกกระถินและยูคาลิปตัส ผลปรากฏว่าดินที่เคยปลูกข้าวแทบไม่ได้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ปลูกข้าวได้ผลดี ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 6 จำหน่ายให้กับศูนย์ข้าวชุมชน จำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 13 บาท ที่เหลือก็เป็นแปลงข้าวพันธุ์ กข 6 และ กข 15 ซึ่งทุกแปลงผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอพีจากกรมการข้าว โดยผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 380-400 กระสอบ ต่อ 30 ไร่ ต่อปี ก็จะแบ่งไว้บริโภคเองในครัวเรือนประมาณ 100 กระสอบ ที่เหลือจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์และข้าวเปลือก จากที่เคยเป็นหนี้สินปัจจุบันก็ปลดหนี้ได้แล้ว เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากข้าวที่เป็นรายได้ พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็หว่านปอเทืองซึ่งสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ขายให้กับสถานีพัฒนาที่ดิน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท รอบหนึ่งจะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 4-5 ตัน ไม่เพียงแค่ขายได้ยังไถกลบต้นปอเทืองเป็นปุ๋ยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้อีก เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 15-20 กระสอบ ตอนนี้ใส่แค่ 5 กก.ต่อไร่ บางปีไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีเลยใช้น้ำหมักที่ทำเองแทน ช่วยลดต้นทุนไปได้มากกว่า 50% ทั้งยังมีรายได้จากการขายไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา อย่างปีที่แล้วขายได้ประมาณ 12,000 บาท ทำให้มีช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้น เรียกว่าปลูกอะไรก็ขายได้หมด ปีหนึ่งจะมีรายได้เฉลี่ย 70,000-80,000 บาท “ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมาก ถ้ามองย้อนไปดูผืนนาเมื่อก่อนเปรียบอย่างกับคนเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ทำอะไรก็ไม่ได้ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นแม้กระทั่งหญ้ายังไม่กล้าขึ้นเลย เดี๋ยวนี้มองไปตรงไหนก็เขียวข้าวสวยอุดมสมบูรณ์ดี ข้อดีของทำนาในพื้นที่ดินเค็มก็มีคือข้าวนุ่มกว่าพื้นที่ปกติ แต่ถึงยังไงดินเค็มก็คิดว่าเป็นปัญหาที่อยู่กับเราตลอดเหมือนกับคนเป็นโรคเบาหวาน ที่รักษาไม่หาย แต่ถ้าเรารักษาถูกจุด ควบคุมมันได้ก็สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำมาหากินมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้แน่นอน ซึ่งตอนนี้คงพูดได้ว่าฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มได้แล้วประมาณ 80% อีก 20% ยังต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เชื่อมั่นว่ามาถูกทางแล้ว นอกจากนี้ ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นแปลงสาธิตการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ดินเค็มโดยใช้เทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน ให้เกษตรกรในละแวกใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาดูงาน เอาไปปรับใช้กับนาของตนเอง ทุกวันนี้มีคนเข้ามาดูงานพอเห็นว่าเราทำได้จริงก็สนใจมากขึ้น”นางอรดี กล่าว