ทั้งให้ปชช.มีเวลารับรู้เข้าใจ ขณะสภากทม.ชี้ 2 แนวทางแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้รายได้จากค่าขยะหายวับ ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา เมื่อวันที่ 28 ส.ค.62 ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากทม. เป็นประธานประชุมสภากรุทม.สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 ประจำปีพ.ศ.2562 โดยมีการพิจารณาวาระสำคัญโดยเฉพาะร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... และขอให้พิจารณาเป็นสามวาระรวดเดียว ซึ่งเดิมจะต้องบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าขยะจากเดิม20 บาท เป็น 80 บาท/เดือน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจและสังคม โดยมีเหตุผล เนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตและเสถียรภาพการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับนโยบายรัฐบาลต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะศรษฐกิจชะลอตัว ตลอดจนเพื่อให้มีระยะเวลาประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหามูลฝอย รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับระบบรับจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ดังนั้น จึงเห็นสมควรชะลอการบังคับใช้ข้อบัญญัติกทม.เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขพ.ศ. 2562 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกอบกับมาตรา 20 มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข(ฉบับที่2)พ.ศ. 2550 และมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งบัญญัติให้ตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจึง จำเป็นต้องตราข้อบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ให้ร่างข้อบัญญัติกทม. เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป จากเดิมที่จะต้องบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากทม.กล่าวว่า มาตรการการจัดเก็บขยะเป็นภาระของท้องถิ่นและกทม.ที่ต้องดำเนินการ ที่ผ่านมา กทม.มีค่าใช้จ่ายที่ติดลบในการบริหารจัดการขยะกว่า 6,500 ล้านบาท หากต้องชลอข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บออกไป ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่หากจะใช้แนวทางช่วยเหลือลดภาระประชาชน ก็น่าจะใช้แนวทาง 2 ส่วน คือ ยกเว้นค่าจัดเก็บขยะในครัวเรือน หรือ หากแต่ละครัวเรือนมีปริมาณขนะไม่เกิน 500 ลิตร ก็ให้ได้รับการยกเว้น แต่ให้เน้นจัดเก็บในภาคธุรกิจแทน อีกทั้งจะทำให้รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม 2,000 ล้านบาทหายไปทันที ทำให้กระทบกับแผนการจัดเก็บรายได้ของ กทม.โดยตรง นอกจากนี้ สมาชิกสภากทม.ได้ร่วมกันอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า เป็นที่น่าเสียดาย เพราะไม่รู้จะยกเว้นไปตลอดหรือไม่ รวมถึงหากมีการพิจารณาใน 3 วาระรวดเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในอนาคตได้ ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม.ได้ขอถอนการพิจารณา 3 วาระรวดต่อที่ประชุมสภา อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 16 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง และตั้งคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... จำนวน 11 คน ประกอบด้วยฝ่ายบริหาร 4 คน และสมาชิกสภากทม.7 คน เพื่อพิจารณาแปรญัญญัติให้แล้วเสร็จภานใน 3 วันทำการ และจะมีการนัดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง