กรมชลฯ เร่งสูบน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมนาข้าวกว่า 3 พันไร่ จากฝนตกหนักในลุ่มน้ำก่ำ จ่อทะลักเข้า 300 ครัวเรือน จ.นครพนม พร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้ เดินหน้าก่อสร้างโครงการผันน้ำลุ่มน้ำตรัง ทันรับหน้าฝนต้น ปี63 เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดนครพนม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมเส้นทางสัญจร ชุมชนและนาข้าว ในตำบลคำพี้ ตำบลพิมาน ตำบลพุ่มแก ตำบลนาแก และตำบลนาคู่ อำเภอนาแก เบื้องต้นกรมชลประทานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเข้าให้การช่วยเหลือ พื้นที่ดังกล่าวแล้ว ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในเขตพื้นที่ชุมชนได้ลดระดับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีน้ำยังคงท่วมขังพื้นที่การเกษตรบางส่วน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำติดลำน้ำก่ำและลำห้วยสาขา รวมพื้นที่ประมาณ 1,140 ไร่ ได้แก่ บริเวณบ้านนาคู่น้อย ต.นาคู่ อ.นาแก บ้านพิมานท่า ต.พิมาน อ.นาแก บ้านนาคู่ ต.นาคู่ อ.นาแก และบ้านต้นแหน ต.นาแก อำเภอนาแก ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ร่วมกับโครงการชลประทานนครพนม ได้เร่งเข้าให้การช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โดยทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณบ้านต้นแหน ต.นาแก เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ และขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 เครื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมทำการยกบานประตูระบายน้ำในลำน้ำก่ำทุกแห่งให้พ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำและลำน้ำสาขาออกสู่ลำน้ำโขง ซึ่งสามารถลดระดับน้ำในลำน้ำก่ำได้ประมาณ 0.25 เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำที่ท่วมขังพื้นที่การเกษตรลดลงประมาณ 0.10 เมตร นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังประตูระบายน้ำสุรัสวดี ให้เพิ่มการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำก่ำในอัตราไม่เกิน 150 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการช่วยเร่งระบายน้ำอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งปัจจุบันลำน้ำก่ำและลำน้ำสาขา มีปริมาณน้ำ 35.59 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ71 และมีแนวโน้มลดลง คาดว่าหากไม่มีฝนตกมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ภายใน 5 วัน นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานที่ 7 ยังได้เตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 7 เครื่อง เพื่อเตรียมรับมืออุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งปัจจุบันได้ทำการติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องแล้วจำนวน 4 เครื่อง รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 2 เครื่อง บริเวณบ้านนาคู่ อ.นาแก พร้อมสำรองเครื่องสูบน้ำจำนวน 63 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำอีก10คัน พร้อมใช้งานหากมีพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือ ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 นายประเสริฐ วงศ์นราทิพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตรัง เข้าร่วมประชุมหารือกับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จังหวัดตรัง พระครูปัญญาวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาเมืองเพชร นายณัฐพงษ์ เนียมสม นายกเทศมนตรี ตำบลนาตาล่วง พร้อมด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ณ ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชั่วคราว โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี คิดเป็นพื้นที่ 10,525 ไร่ จากสถิติข้อมูลฝนตกหนักในรอบ 25 ปี ศักยภาพแม่น้ำตรังสามารถรับน้ำได้ประมาณ 720 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีปริมาณน้ำไหลหลากสูงถึง 1,467 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ โดยเฉพาะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2531, พ.ศ. 2548, พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2554 กรมชลประทาน เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จึงพิจารณาทบทวนผลการศึกษาเดิม โดยได้จัดทำแผนงานการศึกษาในปีงบประมาณ 2556 และจัดทำรายงานวางโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งมีลักษณะเป็นเป็นการขุดคลองผันน้ำ ความยาว 7.55 กิโลเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำหนองตรุด บริเวณต้นคลองผันน้ำ และประตูระบายน้ำคลองช้างบริเวณปลายคลอง สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ควบคุมปริมาณการระบายน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฤดูฝนประมาณ 10,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการช่วยผลักดันน้ำเค็มในฤดูแล้งเพื่อรักษาระบบนิเวศอีกด้วย “จากกรมชลประทานมีแผนงานก่อสร้างคลองผันน้ำและอาคารประกอบ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง โดยได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 แต่เนื่องจากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและมีพฤติกรรมทิ้งงาน กรมชลประทานจึงได้มีการบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา และจะได้ดำเนินการเสนอรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานรวมทั้งดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายประพิศ กล่าวว่า ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยจะเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเพื่อให้งานก่อสร้างคลองผันน้ำและอาคารประกอบแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563 ซึ่งจะเสนอปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานก่อสร้างมาเป็นงานดำเนินการเอง และดำเนินการด้านพัสดุในช่วงปลายปี พ.ศ.2562 เพื่อจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังผ่านพ้นช่วงฤดูฝนในต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2563 ต่อไป