คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ กรณี “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ผู้ต้องสงสัยหมดสติ และเสียชีวิต จากกรณีที่ นาย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงได้ช๊อคหมดสติภายในหน่วยซักถาม ฉก.ทพ.43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 62 เวลาประมาณ 03.00 น.ปัจจุบัน ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อเวลา 04.03 น. ของวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 62 ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ด้วยอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อรายละเอียดดังปรากฏในการแถลงการณ์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค.62 เวลา 17.00 น. ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถนนสิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จากกรณีดังกล่าว ทางคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้แต่งตั้งบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับทางสังคมจากผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนานักวิชาการ ภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ โปร่งใสเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่ซักถาม เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถาม และให้ข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปการดำเนินการดังนี้ ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ได้ทำการสอบถามข้อมูล จากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ พบว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ จากการสอบถามข้อมูลรายบุคคลไม่ได้พบความผิดปกติใดๆ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องสถานที่ซักถาม เป็นไปตามมาตรฐานแต่กล้องวงจรปิดไม่สามารถใช้ได้ จากการตรวจสอบพบว่าอาคารดังกล่าวเพิ่งสร้างเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อพฤษภาคม 62 ตัวกล้องได้ดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่มีการส่งมอบ จึงยังไม่ได้ใช้งาน อย่างไรก็ตามภายหลัง ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ให้บริษัทดำเนินการส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้พร้อมที่จะให้องค์กรต่างๆ เข้าทำการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยซักถามได้ตลอดเวลา “การดำเนินการติดตาม ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการรักษาพยาบาล จากแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พบว่า สาเหตุเสียชีวิตมาจาก อาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง severe pneumonia และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ septic shock สาเหตุนำ ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน hypoxic ischemic encephalopathy (ตามรายงานแพทย์) สำหรับประเด็นที่ทางสังคมค้นหาสาเหตุของสมองขาดออกซิเจนและมีสมองบวมนั้น คณะกรรมการได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากการชี้แจงความเห็นของคณะแพทย์ที่ให้การรักษา สรุปว่า การขาดออกซิเจนของสมองสามารถเกิดขึ้นได้จาก การมีการกระแทกอย่างรุนแรงจากภายนอก แล้วส่งผลให้สมองได้รับการกระทบกระเทือนจนมีการบาดเจ็บภายในที่รุนแรง ซึ่งคณะแพทย์ได้ชันสูตรโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ทั้งจากการตรวจภายนอก การเอ็กซเรย์ การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่พบรอยช้ำของเนื้อเยื่อใดๆ และไม่พบกระดูกร้าวแตก อันจะเป็นหลักฐานแสดงร่องรอยการกระแทกจากภายนอก ทั้งจากกรณีที่มีวัตถุภายนอกมากระทำ หรือ จากอุบัติเหตุล้มแล้วไปกระแทกกับวัสดุแข็งใดๆ การแตกของหลอดเลือดในสมอง จากโรคหลอดเลือดโป่งพอง(aneurysm) ซึ่งเป็นโรคที่จะไม่ปรากฎอาการใดๆในขณะดำเนินชีวิต และอาจไม่มีอาการนำก่อนที่จะมีการแตกออก การออกของเลือดในสมองเช่นนี้ จะส่งผลต่อเนื้อสมองได้อย่างรุนแรง และจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองได้พบว่า มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในส่วนที่เคลือบติดกับเนื้อสมองสับอาราชนอยด์ (subarachnoid hemorrhage) โดยไม่พบมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ซึ่งหากมีการกระแทกจากภายนอกจะมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเป็นลำดับแรก จึงเข้าใจกันได้ว่าการที่สมองบวมเป็นผลจากภาวะหลอดเลือดภายในสมองที่โป่งพองแตก แล้วมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในส่วนที่เคลือบติดกับเนื้อสมองจนส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน และสมองบวมได้ ทั้งนี้ทางคณะแพทย์ได้พยายามที่จะวินิจฉัยให้ชัดเจน โดยการฉีดสารทึบรังสีพร้อมกับการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ได้ปรากฎว่าสารทึบรังสีนี้ไม่สามารถเข้าไปในเนื้อสมองได้ อันเป็นเหตุจากไม่มีการไหลเวียนเลือดในสมอง จึงทำให้ไม่สามารถยืนยันแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก็สามารถทำได้ ด้วยวิธีการผ่าพิสูจน์ ซึ่งหลังจากนาย อับดุลเลาะ เสียชีวิตไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการผ่าศพพิสูจน์ เนื่องด้วยกระบวนการผ่าพิสูจน์สำหรับกรณีนี้ อาจต้องใช้เวลานานตามกรรมวิธีทางด้านการแพทย์ จึงไม่สามารถยืนยันการวินิจฉัยข้างต้นได้” นายอับดุลอซิซ อ่านแถลงการณ์ ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่นผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร จากการที่มีการประชุมสรุปกับคณะแพทย์ มีการสอบถามถึงกรณีนี้ แพทย์ชี้ให้เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่นจะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตกและมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว การเจ็บป่วยที่นำไปสู่การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการจึงเห็นว่า ควรให้การช่วยเหลือเยียวยา โดยทางคณะกรรมการจะรวบรวมผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ รายงานให้ ศอ.บต. พิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมการมีมติว่า ควรให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ตามความเหมาะสมโดยจะเชิญภรรยาและครอบครัวของนายอับดุลเลาะฯ มาหารือต่อไป