ปิดฉากลงไปแล้ว ด้วยหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่ไม่น่าพิสมัยสักเท่าไหร่ !!! สำหรับ การประชุมสุดยอดประจำปี 2019 ของบรรดาผู้นำชาติสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ “จี7 ซัมมิต 2019” ซึ่งรอบนี้เป็นครั้งที่ 45 ที่ “ฝรั่งเศส” แดนน้ำหอม รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพหมุนเวียน ไล่เรียงตามอักษรชื่อประเทศภาษาอังกฤษที่นำหน้าด้วยตัว “เอฟ (F : France)” โดยผู้นำ 7 ชาติสมาชิก เข้าร่วมครบครัน ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ ก็มี “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” เข้าร่วมด้วย โดยได้ส่ง “นายโดนัล ทัสค์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานสภายุโรป” เดินทางมาร่วมประชุม อย่างไรก็ดี ก็ได้มีเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจ เซอร์ไพรส์ ถึงในกลางวงประชุม เมื่อปรากฎว่า “นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน” เดินทางมาร่วมวงประชุมโดยที่ไม่ได้นัดหมาย หรือแจ้งล่วงหน้า ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาในวงสนทนาการประชุมที่กำลังกร่อยๆ ให้มีสีสันขึ้นมาได้เป็นอย่างดีทีเดียว นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน (คนที่ 2 จากซ้ายมือ) เดินทางมายังสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำจี7 ที่เมืองบิอาร์ริตซ์ ประเทศฝรั่งเศส โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทั้งนี้ “รัฐมนตรีฯ ซารีฟ” เดินทางมายัง “บิอาร์ริตซ์” นครซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม “จี7ซัมมิต” ในประเทศฝรั่งเศสอย่างสายฟ้าแลบครั้งนี้ ก็เพื่อมาหารือเรื่องการหาแนวทางแก้ไขคลี่คลายวิกฤติทางการทูตจากกรณีโครงการนิวเคลียร์ ระหว่างอิหร่าน กับเหล่าชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และอังกฤษ จนถึงขนาดโจมตีและยึดเรือบรรทุกน้ำมันฝ่ายตรงข้ามแบบเขย่าขวัญโลกกันมาแล้ว ซึ่งแม้ถึงตอนนี้สถานการณ์เผชิญหน้าก็ยังวิกฤติกันอยู่ โดยประเด็นดังกล่าว ก็ถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุมหารือระหว่างชาติสมาชิกจี7 กันด้วย นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ อาทิ “สงครามการค้าโลก” ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นคู่ปรปักษ์หลัก กับทั้ง “จีนแผ่นดินใหญ่” และแม้แต่ “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” เอง ที่ชาติสมาชิกจำนวหนึ่ง ร่วมวงไพบูลย์กับจี7 ด้วย นั่นคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี หลังสัประยุทธ์กันด้วยมาตรการทางภาษีศุลกากร จนระส่ำไปตามๆ กัน ทั้งนี้ สงครามการค้าข้างต้น ก็ยังได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และยังไม่รู้ว่า สถานการณ์จะไปจบลงเมื่อไหร่ ประเด็นเรื่องการชุมนุมประท้วงอย่างดุเดือดบนเกาะฮ่องกง เพื่อต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ และที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เพื่อต่อต้านอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน นอกจากนี้ ก็ยังประเด็นเรื่อง “วิกฤติไฟป่าแอมะซอน” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในเวทีการประชุมซัมมิตจี4 หนนี้ เพราะเกิดเหตุการณ์ประจวบเหมาะกันพอดีในช่วงที่การประชุมมีขึ้น เวลาเดียวกับไฟป่ากำลังลุกโชน เผาผลาญผืนป่าที่ได้ชื่อว่า “ปอดของโลก” ในถิ่นแซมบา แบบน่าสะพรึง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ที่ประชุมจี7ซัมมิต ช่วยเหลือวิกฤติไฟป่าแอมะซอน โดยนอกจากในเวทีจี7ซัมมิตแล้ว บริเวณนอกห้องประชุม ทางกลุ่มนักเคลื่อนไหว ก็ได้รณรงค์เรียกร้องประสานเสียงกับประชาคมโลกกันอย่างคึกคัก และก็ดูเหมือนว่า สร้างแรงกดดันได้ไม่น้อย ถึงขนาดเวทีการประชุมสุดยอดจี7ซัมมิต ออกแถลงการณ์ ขานรับกับการสางวิกฤติไฟป่าสะท้านโลกครั้งนี้ สวนทางกับประเด็นอื่นๆ ที่ปรากฏว่า ทางที่ประชุมไร้แววข้อตกลง และไม่มีแถลงการณ์ที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี เลยทีเดียวที่ “จี7” จบการประชุมในลักษณะเยี่ยงนี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ประชุมสุดยอดจี7 ซัมมิตจะมีแถลงการณ์เกี่ยวกับวิกฤติไฟป่าแอมะซอนข้างต้น แต่บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า เหล่าชาติชั้นนำทั้ง7ของโลกดังกล่าว น่าจะทำได้อย่างมากเพียงเท่านั้นแหละ ไม่ผิดอะไรกับเพียงผู้สังเกตการณ์ ไม่น่าจะแสดงบทบาทนำได้แต่ประการใด เช่นเดียวกับสถานการณ์วิกฤติปัญหาของโลกอื่น กลุ่มจี7 ก็น่าจะทำได้เพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ชนิดที่เรียกว่า ขนาด “รัสเซีย” ก็ยังส่งเสียงเย้ยหยัน ไม่ขอกลับเข้าร่วมก๊วนกับกลุ่มจี7 เป็นจี8 เฉกเช่นแต่เก่าก่อน แม้จะถูกอ้อนวอนงอนง้อกันก็ตามที แต่จะขอไปเข้าร่วมวงไพบูลย์กับจีนแผ่นดินใหญ่ มหาอำนาจของอีกฟาก ที่อู้ฟู่มั่งคั่งมากกว่า สวนทางแตกต่างกับจี7 ที่นับวันมีแต่จะโรยราสิ้นมนต์ขลังอย่างยากจะกู่กลับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย สานสัมพันธ์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่