กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดโชว์ระบบการขึ้นทะเบียนข้อมูลเกษตรกร มั่นใจฐานข้อมูลการเกษตร มีระบบรับรองและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ปัจจุบันยังสามารถวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลได้ประมาณ 100 ล้านไร่ นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรถือเป็นหน้าที่ที่เกษตรกรทุกคนควรถือปฏิบัติ โดยหลังจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับสมุดทะเบียนเกษตรกรเพื่อเป็นเอกสารใช้แสดงสถานภาพการเป็นเกษตรกร ยืนยันความเป็นเกษตรกร โดยเกษตรกรแจ้งความประสงค์ขอปรับปรุงข้อมูลการทำการเกษตร หรือขึ้นทะเบียนใหม่ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง ตามที่ตั้งแปลงปลูกพืชของตัวเอง ทั้งนี้ที่สำคัญเกษตรกรจะต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ตามกรอบระยะเวลาการปลูกพืช โดยปกติปรับปรุงหลังจากการปลูก ไม่น้อยกว่า 15-60 วัน ตามแต่ละชนืดพืช และหากเกษตรกรไม่มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีนับถัดจากวันที่ 23 มิ.ย.60-22 มิ.ย.63 ปัจจุบันมีจำนวนถึง 896,871 ครัวเรือนที่ยังไม่ได้มาปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร หากครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว เกษตรกรจำนวนนี้จะสิ้นสถานภาพการเป็นเกษตรกรทันที และทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจากโครงการของรัฐบาล โดยปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรมีการตรวจสอบด้วยระบบโปรแกรมทั้งการตรวจสอบข้อมูลบุคคลกับสำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลชื่อ สกุล สมาชิกในครัวเรือนที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งการตรวจสอบเนื้อที่เพาะปลูกของเกษตรกรจากการวาดผังแปลงเพาะปลูก ผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล โดยซ้อนกับผังแปลงกับกรมที่ดิน สปก.และภาพถ่ายดาวเทียม โดยมีการวาดผังแปลงแล้ว จำนวน 13,824,739 แปลง คิดเป็นพื้นที่กว่า 100 ล้านไร่ คิดเป็น 72% ของพื้นที่การเกษตรประมาณ 139 ล้าน “ข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลที่ได้สามารถนำมาใช้ในการวางแผนภาครัฐทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้ตอบสนองกับการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายมากขึ้นเช่น การตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่มีพื้นที่ที่ถูกต้อง สามารถเข้ารับสมัครฝึกอบรมเพื่อรับสิทธิ์ซื้อสารเคมี ตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดได้ โดยการตรวจสอบที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ การตรวจสอบแปลงเพาะปลูกเพื่อยืนยัน การเพาะปลูกหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการตรวจสอบด้วยระบบดิจิทัลแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีการตรวจสอบทางสังคม โดยให้คนในชุมชนร่วมกันตรวจสอบกันเองการนำข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม ไปปิดประกาศในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นเวลา 3 วัน เพื่อยืนยันหรือคัดค้านว่ามีการเพาะปลูกจริงในชุมชนนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและนำเครื่องมือ เทคโนโลยี มาปรับปรุงวิธีการรับขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดทำ Application FARMBOOK หรือ สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล เพื่อลดภาระในการเดินทาง ซึ่ง แอพฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถแจ้งปรับปรุงข้อมูลในทะเบียนได้ด้วยตนเอง ผ่าน Smart Phone และสามารถติดตามสิทธิ์โครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ และให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันสามารถดาวน์โหลด Androidและ iOSและเริ่มใช้งานผ่านระบบด้วยการใช้เลขที่ในทะเบียนเกษตรกร หรือหมายเลขโทรศัพท์ ที่ใช้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ 2 นำเครื่อง GPS มาใช้จับพิกัด วัดขนาดพื้นที่ และวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล นอกจากนั้นยังมี Application FAARMisสำหรับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลออกให้บริการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรนอกสถานที่โดยสามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ทั้งเกษตรกรรายใหม่ และเกษตรกรรายเดิม สำหรับข้อมูลทะเบียนเกษตรกรประกอบด้วยข้อมูล 9 ด้านได้แก่ 1.ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน 2.สมาชิกในครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร3.การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งที่เป็นของตนเอง ที่ดินเช่า ประเภทเอกสารสิทธิ์ เลขที่เอกสาร และเนื้อที่ตามเอกสาร 4.การประกอบกิจกรรมการเกษตร (ประเภทกิจกรรมการเกษตร/ วันที่ และเนื้อที่ปลูก /วันที่และเนื้อที่ที่จะเก็บเกี่ยว 5.การเข้าร่วมโครงการภาครัฐ 6.รายได้ 7.หนี้สิน 8.เครื่องจักรกลการเกษตร 9.แหล่งน้ำ “การขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการใช้ประโยชน์จากทะเบียนเกษตรกร ถือเป็นข้อมูลหลักสำหรับการทำงานของกรมฯ ช่วยตอบโจทย์โครงการต่างๆได้ ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงไปสู่ระบบของหน่วยงานอื่น รวมทั้งที่มีหน่วยงานต่างๆขอใช้ประโยชน์จากข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรจะยึดหลักการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 อย่างเคร่งครัดต่อไป”