วันที่ 26 ส.ค. ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการของรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลฯ โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัล พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงดิจิทัลฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ให้การต้อนรับและรับฟังแนวนโยบาย พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. และมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูง เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในโอกาสนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวมอบนโยบายการดำเนินงาน 9 ข้อ ซึ่งจะครอบคลุมการดำเนินงานพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยในด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 4 ข้อ ได้แก่ 1.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มรายได้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร คนในพื้นที่ห่างไกล มีการนำ e-Commerce เข้ามาสนับสนุน 2.วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัย ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเร่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาทางไกลกับประชาชน 3.เตรียมคนไทยให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รู้เท่าทันภัยออนไลน์และ 4.พัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเร่งส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในด้านสังคม ประกอบด้วย 2 ข้อ ได้แก่ 1.ช่วยกลุ่มผู้สูงอายุโดยการส่งเสริม และสนับสนุน ให้เข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม 2.เร่งแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการขอให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1. บูรณาการความร่วมมือ ในการป้องกันและจัดการภัย จากการโจมตีทางไซเบอร์ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และทวีความสำคัญมากขึ้น 2. เร่งดำเนินการตาม พรบ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 3.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยบูรณาการทำงาน และดำเนินการตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ อย่างเคร่งครัด การดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ ตามที่ได้กล่าวมา ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ผู้บริหารข้าราชการ และบุคลากร ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น้อมนำ “หลักราชการ”ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นหลักคุณธรรมและจริยธรรม ในวิชาชีพข้าราชการที่สำคัญยิ่ง ที่พึงยึดถือเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ 10 ประการ พล.อ.ประวิตร ยังได้เน้นย้ำถึงนโยบายซึ่งอยากให้กระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการเร่งยกระดับขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศน์ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย ตลอดจนให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ จากนี้ ยังมอบหมายแนวทางการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสาน Fake News Center เป็นศูนย์กลางของประเทศในการบริหารจัดการข่าวปลอม สร้างการรับรู้ กระจายข้อมูล ข่าวสารที่เป็นจริง ข่าวการเตือนภัยพิบัติ และแจ้งเตือนได้ถึงข่าวปลอมที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและประชาชน ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมที่กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงลดความเสียหายของประเทศที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างข่าวปลอม ท้ายสุด พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ชื่นชมกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง อาทิ เรื่องเน็ตประชารัฐ ที่ได้รับรางวัลระดับโลก จึงขอให้ข้าราชการและบุคลากรทุกคน ตั้งใจปฏิบัติราชการด้วยความเสียสละอย่างเต็มกำลังความสามารถต่อไป นอกจากนี้ ขอให้เร่งทำงานกันมากขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ต้องได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และประชาชนต้องรู้จักและนึกถึงผลงานกระทรวงฯ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง สำหรับภาพรวมการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐ ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน Wi-Fi เน็ตประชารัฐแล้วจำนวนกว่า 6.83 ล้านคน มีจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าใช้งานมากกว่า 7.84 ล้านเครื่อง จากพื้นที่ติดตั้งโครงการที่ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีการสร้างผู้นำชุมชนไปแล้วกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศเพื่อขยายผลต่อประชนในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐ 1.2 ล้านกว่าคน ตลอดจนต่อยอดสร้างวิทยากรแกนนำเพื่อแนะนำการใช้ application เน็ตอาสาประชารัฐพร้อมสร้างเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาผู้ดูแลเน็ตประชารัฐประจำจังหวัด (อสด.) นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้จัดให้มีศูนย์ดิจิทัลชุมชนมีจำนวน 2,277 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับประชาชนในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมถึงสร้างผู้ชำนาญการของชุมชนที่มีทักษะด้านดิจิทัล ให้เกิดประโยชน์โดยการรวบรวมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสารสนเทศให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน